วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เจาะศูนย์บัญชาการลับ "ยิ่งลักษณ์" ใคร-อยู่ที่ไหน-ทำอะไรใน Energy Complex

วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 10:07:40 น.

เจาะศูนย์บัญชาการลับ "ยิ่งลักษณ์" ใคร-อยู่ที่ไหน-ทำอะไรใน Energy Complex





แม้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) จะอพยพหนีน้ำเหนือจากท่าอากาศยานดอนเมืองมาปักหลักอยู่อาคาร Energy Complex ของกระทรวงพลังงาน บนเนื้อที่ของ สำนักงานการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ย่าน 5 แยกลาดพร้าว

หากสุดท้ายก็ยังไม่สามารถรอดพ้นมวลน้ำก้อนมหึมาที่หลากมา ทำให้มีการตั้งคำถามว่า "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี และ "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" รองนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศปภ.จะตัดสินใจอพยพศูนย์บัญชาการต่อสู้ภัยน้ำอีกครั้งหรือไม่

จึงเป็นสัญญาณว่า ศปภ.ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะปักหลักต่อสู้กันอยู่ที่ตึก แห่งนี้จนวินาทีสุดท้าย

ไม่เพียงแค่การสร้างทางเชื่อมเพื่อเข้าไปยัง ศปภ.เท่านั้น บริเวณโดยรอบอาคารทั้งอาคาร A, B, C มีการเสริมกระสอบทรายบริเวณประตูทางเข้าโดยรอบทั้งหมด

โดยเฉพาะอาคาร B ซึ่งใช้เป็น สถานที่ปฏิบัติงานของ ศปภ. มีการเสริมกระสอบทรายสูงราว 1 เมตร นอกจากนี้บริเวณโดยรอบยังมีการสร้างแนวป้องกันน้ำไว้อีก 1 ชั้น จนทำให้รัฐบาล ยิ่งลักษณ์มั่นใจว่าน้ำจะไม่รุกล้ำเข้ามาซ้ำรอยศูนย์บัญชาการดอนเมืองที่เวลานี้กำลังจมบาดาล

นอกจากอาคาร B จะมีการวางแผนป้องกันน้ำทะลักเข้ามาอย่างรัดกุม ภายในตึกยังมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการเข้า-ออกของบุคคลภายนอก ผิดกับ ศปภ. ดอนเมืองที่การรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างหละหลวมจนเกิดเหตุลักเล็กขโมยน้อยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

เมื่อสำรวจพื้นที่ซึ่งถูกใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการในอาคาร B พบว่า ศปภ.แบ่งสัดส่วนเอาไว้ 5 ชั้น

ชั้น 1 เป็นโซนผู้สื่อข่าว โซนแถลงข่าว และโซนรับบริจาค การรักษาความปลอดภัยไม่เข้มงวดมากนัก และตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไปผู้มาติดต่อจะต้องแลกบัตรที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ โดยมีคำสั่ง ลงมาจากเบื้องบนว่า ห้ามสื่อทุกแขนงที่มาทำข่าว ศปภ.ขึ้นไปชั้นบนจนกว่าจะได้รับอนุญาต หรือต้องมีคนในส่วนราชการของ ศปภ.ลงมารับเท่านั้น

และกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ยังส่งอาสาสมัครรักษา ดินแดน 4 นายมาคอยเปิดประตู และเป็นหน่วยสแกนคนเข้า-ออกอีกชั้น แต่สำหรับ "ยิ่งลักษณ์" ทางกระทรวงพลังงานได้จัดทางเดิน V.I.P.ไว้เป็นการเฉพาะ มีลิฟต์ส่วนตัวต่อตรงขึ้นไปยังห้องทำงานชั้น 25 ทันที

ชั้น 3 เป็นโซน ศปภ.กทม.ส่วนหน้า และหน่วยกรมกองราชการย่อยต่าง ๆ ที่ส่งเจ้าหน้าที่บางส่วนมาประจำ ศปภ. และยังมีห้องทำงานของ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รองนายกฯ และ รมว. มหาดไทย 1 ห้อง มีโต๊ะทำงานที่จัดไว้สำหรับ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" และ "พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ" รองนายกฯ รวมอยู่ในห้องเดียวกัน 1 ห้อง พร้อมกับห้องสำหรับคณะรัฐมนตรีอีก 1 ห้อง

ชั้น 6 นับว่าเป็นโซน "หน้างาน" โซน "มันสมอง" และโซน "งบประมาณ" ประกอบด้วยหน่วยงานราชการ อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำโดย "ปลอดประสพ สุรัสวดี" รมว. วิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะหัวหน้าหน่วยปฏิบัติงานที่มาพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำจากประเทศฮอลแลนด์ ซึ่งมาให้คำปรึกษาเรื่องทิศทางการไหลของน้ำ

ข้าง ๆ กันมีห้องของ "นักวิชาการเรื่องน้ำ" เป็นที่ทำงานของกูรูเรื่องน้ำที่ ศปภ.ของ "ยิ่งลักษณ์" ดึงมาช่วยงาน เช่น "ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา" และ "ดร.รอยล จิตรดอน" ถัดไปเป็นศูนย์บัญชาการกองทัพไทย-กระทรวงกลาโหม ที่ยกบรรดาแม่ทัพ-นายกองมาช่วยแก้วิกฤตอุทกภัยครั้งนี้

ในบริเวณใกล้กันยังมีห้องของสำนักงบประมาณ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฝ่ายงบประมาณ ศปภ. กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แต่ไฮไลต์ของชั้น 6 คือ "ห้องที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี" อันเป็นมันสมองสำคัญของ ศปภ. ซึ่งประกอบด้วยคนจากสมาชิกบ้านเลขที่ 111+109 และคนจากพรรคเพื่อไทย ที่มาช่วยงานตั้งแต่ ศปภ.ดอนเมืองจนถึง ศปภ.วิภาวดีฯ

ห้องนี้เป็นที่ชุมนุมเช่น น.พ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช-ภูมิธรรม เวชยชัย-สุรนันทน์ เวชชาชีวะ แต่คนที่หายหน้าไปคือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ขึ้นมา ชั้น 15 ซึ่งเป็นโซนบัญชาการหลักของ ศปภ. แยกเป็นห้องบัญชาการ (Command Center) มี "ยิ่งลักษณ์" รัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในห้องนี้ทุกวัน นอกจากนี้ยังมีห้องกระทรวงยุติธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ห้องโฆษก

ห้องปฏิบัติการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์ ห้องประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) กระทรวงมหาดไทย มี "พระนาย สุวรรณรัฐ" ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ รอง ผอ.ศปภ.เป็น ผู้บัญชาการ

ชั้น 25 เป็นชั้นสุดท้าย อยู่ชั้นบนสุด และมีความสำคัญที่สุดเพราะก่อนที่ ศปภ.ดอนเมืองจะยกทัพหนีน้ำมายังตึกแห่งนี้ เดิมเป็นห้องทำงานของ "พิชัย นริพทะพันธุ์" รมว.พลังงาน และเมื่อศูนย์บัญชาการต่อสู้ภัยน้ำย้ายสถานที่จากดอนเมืองมายัง Energy Complex "พิชัย" ได้ประกาศยกห้องตัวเองบนชั้น 25 แห่งนี้ให้แก่ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ใช้เป็นห้องทำงานนายกรัฐมนตรี

ชั้น 25 ประกอบด้วย ห้องประชุมที่เปลี่ยนสภาพมาเป็นห้องประชุมคณะรัฐมนตรีและห้องทำงานนายกรัฐมนตรี มีลิฟต์ V.I.P. ตั้งแต่ชั้น 1 มาถึงชั้น 25

หากขึ้นทางปกติ เมื่อประตูลิฟต์เปิดออกจะพบว่าการรักษาความปลอดภัยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล 1 นาย และ รปภ.ของกระทรวงพลังงานอีก 1 นาย คอยถือการ์ดเปิด-ปิดประตูห้อง

และพลันที่ออกจากตัวลิฟต์ขวามือจะพบกับประตูบานใหญ่สีขาว ต้อง ใช้ key card เปิดประตูจาก รปภ.ของกระทรวงพลังงานเท่านั้น ถึงจะเปิดกระดองชั้นนอกที่ห่อหุ้ม "ปู-ยิ่งลักษณ์" ผ่านไปได้

พลันที่ประตูบานนอกถูกเปิดแล้ว ยังมีประตูอีกชั้นในขั้นกลางอีก 1 ชั้น ต้องอาศัยให้ รปภ.ที่อยู่ด้านในใช้ key card เปิดอีกครั้งหนึ่ง เป็นระบบรักษาความปลอดภัยแบบ "ลับเฉพาะ" ให้กับ "ยิ่งลักษณ์"

เพราะสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่แค่ศูนย์บัญชาการหลักของ ศปภ.ที่ใช้สำหรับรับมือมวลน้ำทั้ง 1.2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งหลักแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศไทย และรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อไทยด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น