วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

รวม 6 ชิ้นโบแดง ไอเดียนักศึกษา ตรวจไฟรั่วก่อนสายเกินไป

รวม 6 ชิ้นโบแดง ไอเดียนักศึกษา ตรวจไฟรั่วก่อนสายเกินไป

รวบรวม 6 ผลงาน อุปกรณ์ตรวจสอบไฟรั่ว ฝีมือนักศึกษาไทย โชว์ความคิดสร้างสรรค์ ช่วยชีวิตผู้ประสบภัย ช่วงน้ำท่วม รู้ตัวก่อนโดนไฟดูด...

จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น และต่อเนื่องมากว่าสองเดือน นอกจากปัญหาน้ำเน่าเสีย แล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กัน คือ ปัญหาเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้ารั่ว ยิ่งในพื้นที่ที่น้ำเริ่มลดลงมาบ้างแล้ว ผู้คนต่างพากันกลับเข้าไปยังบ้านของตนเพื่อทำความสะอาดบ้าน ซึ่งบางบ้านอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดเสียหาย หากขาดความระมัดระวัง ก็จะเกิดอันตรายขึ้นได้ วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ จึงได้รวบรวมอุปกรณ์ตรวจไฟรั่ว ที่เกิดจากไอเดีย และฝีมือของนักศึกษาไทยล้วนๆ มาให้เลือกใช้และป้องกันอันตรายก่อนจะสายเกินไป ดังนี้ 

1.เป็ดน้อยตรวจไฟรั่ว ผลงาน สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สำหรับวิธีการทำงาน คือ เมื่อเป็ดน้อยลอยไปอยู่บริเวณที่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว จะส่งสัญญาณเป็นแสงสว่างเตือนทันที ทำให้รู้ว่าบริเวณนั้นมีไฟฟ้ารั่วอยู่ ข้อมูลเพิ่มเติม 0-232 9-8277,0-2329-8288,0-2329-8299

2.คทาตรวจไฟรั่ว ผลงาน ภาควิชาไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา การทำงานของ คทาตรวจไฟรั่วนั้น เมื่อเข้าไปในพื้นที่ที่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว หรือต้องลุยในน้ำท่วม โดยถืออุปกรณ์ให้ส่วนปลายสัมผัสกับน้ำ หากบริเวณนั้นมีกระแสไฟฟ้ารั่ว ตัวอุปกรณ์จะส่งเสียงร้องออกมา โดยสามารถตรวจจับกระแสไฟฟ้าได้ในระยะ 1-2 เมตร หรือ สามารถตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่รั่วออกมาตั้งแต่กระแสไฟฟ้ายังอ่อนๆ ข้อมูลพิ่มเติม 0-3810-2222 ต่อ 3382

3.กระทงเซฟตี้ตรวจไฟรั่ว ผลงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดย อุปกรณ์นี้จะไม่มีแหล่งพลังงานในตัวเครื่อง เป็นกระทงที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่รั่วอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมเป็นแหล่งงานโดย ไม่ใช้แบตเตอรี่ สามารถตรวจสอบบริเวณได้โดยรอบ 360 องศา   ระยะการตรวจเช็กประมาณ 1 เมตร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 08-9010-7984 หรือ www.kmutnb.ac.th

4.เครื่องตรวจไฟรั่ว ผลงาน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอุปกรณ์นี้ ถูกออกแบบให้คล้ายคันเบ็ดตกปลา เพื่อทำให้ผู้วัดไม่ต้องเสี่ยงไปอยู่ใกล้บริเวณที่วัดไฟรั่ว ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ 0-2218-5000 หรือ www.sc.chula.ac.th

5. เครื่องตรวจไฟรั่ว ผลงาน วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อุปกรณ์นี้ผลิตโดยใช้อุปกรณ์ที่หาง่าย ประกอบด้วย ท่อน้ำพีวีซี กระป๋องน้ำอัดลม หลอดไฟแอลอีดี สายไฟ และเทปพันสายไฟ นำมาประกอบ วิธีการใช้ เพียงนําด้านปลายจุ่มลงไปในน้ำที่สงสัยว่ามีไฟรั่ว ซึ่งอาจจะเป็นบริเวณที่สวิตช์ หรือปลั๊กไฟที่จมอยู่ในน้ำ แล้วมองเข้าไปในท่อพีวีซี สังเกตหลอดแอลอีดีว่าสว่างหรือไม่ ถ้าสว่างเป็นสีแดงก็แสดงว่ามีไฟรั่ว สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาวิธีทำได้ที่ www2.rsu.ac.th/news/engineer-09-11-2011

และ 6. ไม้เช็กไฟฟ้ารั่วในแหล่งน้ำ ผลงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิธีการใช้งาน เพียงแต่นำไม้นี้นำทางไปเวลาลุยน้ำท่วม จะสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าที่ไหนในรัศมี 2 เมตรมีไฟฟ้ารั่วอยู่บ้าง เป็นการป้องกันไฟฟ้าดูดได้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 0-2470-9999

ทั้งหมดนี้เกิดจากแนวคิดของน้องๆ เยาวชน ที่นอกจากจะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ ขึ้นมาอย่างสร้างสรรค์แล้ว ยังห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยทุกพื้นที่ พร้อมทั้งหาวิธีการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ดีกว่าพูดไปวันๆ แล้วไม่เกิดประโยชน์ใดๆ...

ทีมข่าวไอทีออนไลน์

 

โดย: ทีมข่าวไอทีออนไลน์

21 พฤศจิกายน 2554, 15:00 น.

http://m.thairath.co.th/content/tech/218114

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น