วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โทลูอีนอันตราย รัฐบิดเบือนข้อมูล จัดการอุบัติภัยเคมีดีขึ้นแต่ยังต้องแก้อีกเยอะ โดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ 7 พฤษภาคม 2555

 
โทลูอีนอันตราย รัฐบิดเบือนข้อมูล 
จัดการอุบัติภัยเคมีดีขึ้นแต่ยังต้องแก้อีกเยอะ
โดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ
7 พฤษภาคม 2555

สืบเนื่องจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ที่โรงงานของบริษัทบีเอสทีอิลาสโตเมอร์ ในเครือบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ (BST) ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา มูลนิธิบูรณะนิเวศซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่ได้ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด ได้ออกมาให้ความเห็นว่า แม้การรับมือสถานการณ์ อาทิ การควบคุมเพลิง การตัดสินใจประกาศอพย จะเป็นไปอย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แต่ในด้านอื่นๆ ยังคงมีปัญหาอยู่โดยเฉพาะการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี เช่น สารโทลูอีน ซึ่งแท้จริงแล้วมีอันตราย และเป็นไปได้ว่าจะยังคงตกค้างอยู่ในพื้นที่อีกเป็นเวลานาน ไม่เฉพาะวันเกิดเหตุ จนเป็นเหตุให้การป้องกันตัวเองจากสารเคมีของประชาชนยังไม่รัดกุมเพียงพอ นอกจากนี้ในด้านระบบจัดการกับอุบัติภัยสารเคมีของประเทศไทยที่ยังมีส่วนที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอีกมาก

โดยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2555 ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ นางสาววลัยพร มุขสุวรรณ รองผู้อำนวยการมูลนิธิฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสารเคมี ได้ออกมาระบุว่า แม้สารโทลูอีนโดยลำพังจะระเหยง่าย แต่เมื่ออยู่ในบรรยากาศที่มีโอโซนและแสงแดด จะคงตัวอยู่ได้นานถึง 27,950 วัน หรือมากกว่า 76 ปี ทั้งนี้ในพื้นที่มาบตาพุดมีการตรวจพบสารโอโซนโดยกรมควบคุมมลพิษในจำนวนเกินค่ามาตรฐานทุกปีและในทุกสถานีตรวจวัดของพื้นที่มาบตาพุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าสารโทลูอีนที่ปล่อยออกมาจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ จะคงอยู่ยาวนานมากกว่า 2 วัน และอาจมากถึง 70 กว่าปี เพิ่มโอกาสที่ประชาชนจะได้รับสารโทลูอีน ซึ่งมีฤทธิ์เฉียบพลัน คือ ระคายเคืองจมูกและปอด เจ็บในทรวงอก และในระยะยาว สารโทลูอีนมีพิษต่อตับ ไต สมอง กระเพาะปัสสาวะ และระบบประสาท รวมทั้งพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ดังนั้นมาตรการเฝ้าระวังสารเคมีปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มิใช่ว่าเพียงสองวันก็ประกาศว่าสถานการณ์เป็นปกติแล้ว

การเฝ้าระวังค่าปนเปื้อนของสารเคมีในอากาศยังจำเป็นต้องตรวจวัดสารเคมีอีกหลายชนิด มิใช่สารโทลูอีนเพียงอย่างเดียว เพลิงไหม้ที่โรงงาน BST ทำให้สารโทลูอีนถูกเผาไหม้ ก่อปฏิกิริยาทางเคมีเปลี่ยนเป็นสารที่มีพิษต่อร่างกายได้อีกหลายชนิด เช่น หากโทลูอีนถูกเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ จะเกิดสารคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้คลื่นไส้ เวียนหัว จนถึงหมดสติและเสียชีวิตได้หากได้รับในปริมาณมาก หากเผาไหม้เกือบสมบูรณ์ จะเกิดสารคาร์บอนมอนออกไซด์ เป็นพิษเมื่อสูดดม ระคายเคืองผิวหนัง ระคายตา ทางเดินหายใจส่วนบน และยังเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ควันดำที่เห็นจากเหตุเพลิงไหม้โรงงาน BST เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าสารโทลูอีนได้ถูกเผาไหม้อย่างไม่สมบูรณ์ ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องทางเคมี กลายเป็นสารเคมีอีกหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารอันตรายและมีฤทธิ์เฉียบพลัน บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าระวังค่าปนเปื้อนของสารเคมีอื่นๆและแจ้งผลให้ประชาชนทราบเป็นระยะ

การให้ข้อมูลทั้งจากบริษัทและหน่วยงานรัฐเฉพาะเจาะจงที่สารโทลูอีนและการย้ำว่าไม่เป็นสารก่อมะเร็ง จึงถือเป็นการบิดเบือนข้อมูล ทำให้ความน่ากลัวของเหตุการณ์น้อยลง ซึ่งเข้าใจได้ในแง่ที่ไม่อยากให้สาธารณะชนแตกตื่น อย่างไรก็ตาม อาจทำให้ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เช่นหน่วยกู้ภัยและนักข่าวที่เข้าไปทำข่าวหรือชุมชนรอบๆ ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดและไม่ป้องกันตัวอย่างเพียงพอ เช่นมีรายงานว่านักข่าวที่บินไปทำข่าวกับเฮลิคอปเตอร์ในวันต่อมาถึงกับหน้ามืดและอาเจียนจากการสูดสารเคมีเข้าไปเป็นระยะเวลานา

ด้านนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า การที่สามารถควบคุมเหตุเพลิงได้ภายในที่ค่อนข้างรวดเร็ว รวมทั้งตัดสินใจประกาศอพยพ 18 ชุมชน เพื่อป้องกันผลกระทบหากเหตุลุกลามเป็นวงกว้างในครั้งนี้ ถือได้ว่าการจัดการกับอุบัติภัยสารเคมีของประเทศไทยมีพัฒนาขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนจำเป็นต้องปรับปรุงอีกมาก ซึ่งส่วนที่สำคัญคือการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเหตุครั้งนี้ยังพบปัญหาในทางปฏิบัติอยู่หลายส่วน เช่น ชาวบ้านไม่ได้ยินเสียงตามสายเพราะฝนตกหนัก ระบบ sms ไม่แจ้งเตือนเพราะเจ้าหน้าที่เพิ่งรับทราบข่าวหลังเหตุสงบแล้ว จุดรวมพลในการอพยพไม่ชัดเจน หรือแม้จะมีการประกาศผ่านทางสื่อโทรทัศน์แต่ประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ได้ดูทีวีก็ไม่ได้รับข้อมูลเป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนื่องจากมาบตาพุดเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ ผลิต และเก็บสารเคมีอันตรายมากที่สุดในประเทศไทย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดอุบัติภัยสารเคมี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบการแจ้งเตือนภัย การอพยพ และการจัดการกับอุบัติภัยจะต้องทำงานได้ สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ หากอุบัติเหตุไม่ได้เกิดขึ้นที่ถังเก็บสารโทลูอีน แต่เป็นสารเคมีชนิดอื่นที่ร้ายแรงกว่า เพราะโรงงานปิโตรเคมีทุกโรงในมาบตาพุดมีการใช้และผลิตสารเคมีอันตรายอีกจำนวนมากที่มีอันตรายร้ายแรงกว่าสารโทลูอีน และหากไม่ได้เกิดในระหว่างที่โรงงานดังกล่าวปิดทำการในวันหยุด โศกนาฏกรรมครั้งนี้ก็อาจรุนแรงและส่งผลเสียหายยิ่งกว่านี้ การป้องกันและเตรียมรับมือจึงมีความจำเป็น

ในแง่การเยียวยารักษาผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยในครั้งนี้ อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนงานทั้งของบริษัท BST และบริษัทรับเหมาเฉพาะทาง และเนื่องจากสารที่ได้รับสัมผัสจำนวนมากซึ่งยังระบุไม่ได้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการติดตามเฝ้าระวังสุขภาพระยะยาวของคนงานผู้ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนจะต้องเร่งสร้างมาตรการเหล่านี้

วิเคราะห์กรณีระเบิด และเพลิงไหม้โรงงาน BST นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

 

วิเคราะห์กรณีระเบิด และเพลิงไหม้โรงงาน BST นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

วันที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:30:00 น.

Share154




ผศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต

ช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันหยุด 5 พฤษภาคม 2555 (ค่อนข้างจะเป็นวันที่เป็นตัวเลขที่ดีมากเพราะเป็น เสาร์ห้า เดือนห้า ปีห้าห้า) ผมได้ทราบข่าวการเกิดระเบิด และเพลิงไหม้โรงงานบางกอกซินเทติกซ์ หรือที่รู้จักกันดีในหมู่พนักงานที่ทำงานภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่าโรงงานบีเอสที (BST) ผ่านจากทางโทรศัพท์ของมิตรสหายภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ และข่าวที่กระจายออกตามสื่อต่างๆ ประโคมถึงผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และวิเคราะห์ถึงผลกระทบเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นกับผู้ที่อาศัยอยู่โดยรอบบริเวณพื้นที่ รวมถึงการคาดการณ์ถึงผลกระทบระยะสั้น และระยะยาวที่จะตามมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ผมใช้เวลาอยู่หลายชั่วโมงพยายามติดตามถึงสาเหตุ และข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านทางสื่อต่างๆ ทั้งทางโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต เนื่องจากการโทรศัพท์ถามผู้ใหญ่ที่สนิทบางท่านในช่วงเวลานี้ไม่ค่อยเหมาะนัก ด้วยเพราะยังอยู่ในช่วงชุลมุน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า และแต่ละท่านก็คงไม่มีเวลา หรือกระจิตกระใจมาเสวนากับอาจารย์ที่อยากรู้อย่างผมมากนัก จนพอจะจับใจความได้จากแถลงการณ์ของบริษัทที่ออกมาถึงสามฉบับ (ณ เวลาประมาณสามทุ่มที่ผมติดตามข่าวอยู่) ได้ว่าเป็นเหตุการณ์การระเบิดบริเวณพื้นที่ที่ใช้เก็บถังบรรจุตัวทำละลาย โดยทราบเบื้องต้นคร่าวๆว่าเป็นตัวทำละลายประเภทโทลูอีน (Toluene) โดยเหตุเกิดขณะที่อยู่ในระหว่างปิดซ่อมบำรุง มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้นจำนวน 5 ราย และบาดเจ็บมากถึงกว่า 90 คน เกิดความสับสนอลหม่านของการสื่อสารข้อมูล เนื่องจากเกิดกลุ่มหมอกควันสีดำกระจายปกคลุมในบริเวณกว้าง ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงต้องอพยพ และหลายคนเกิดความผิดปกติของร่างกายจากการสูดดมควันดังกล่าว ผู้เกี่ยวข้องหลายท่าน (ทั้งที่รู้ และไม่ค่อยรู้) ออกมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบ ของควันพิษจากการเผาไหม้สารเคมีกันอย่างน่าหวาดกลัว

ผมในฐานะนักสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันวนเวียนทำวิจัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่หลายปี และด้วยพื้นฐานเดิมที่เป็นนักเคมี และวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ ก็เลยอดไม่ได้ที่อยากจะวิเคราะห์ดังๆ โดยพยายามใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามข้อมูลที่ได้รับ โดยหวังเพียงจะเป็นส่วนหนึ่งที่อาจบรรเทาความชุลมุนที่กำลังเกิดขึ้นในเหตุการณ์เฉพาะหน้าดังกล่าวนี้ได้

ต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางที่ทำการผลิตผลิตภัณฑ์หลักของไฮโดรคาร์บอนที่มีจำนวนคาร์บอน 4 ตัวเป็นหลัก (ภาษานักปิโตรเคมีเรียกผลิตภัณฑ์พวกนี้ว่า Mixed C4 เหตุที่เรียกว่า Mixed ก็เพระคาร์บอนจำนวน 4 ตัวดังกล่าวนั้นอาจอยู่ในรูปของไฮโดรคาร์บอนประเภทอัลเคน หรืออัคคีน ปนกันอยู่ในผลิตภัณฑ์) ซึ่งผลิตภัณฑ์พวกคาร์บอน 4 ตัวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมก๊าซแอลพีจี หรือก๊าซหุงต้ม อุตสาหกรรมการผลิตตัวเพิ่มค่าออกเทน (MTBE: Methyl Tertiary Butyl Ether) และ อุตสาหกรรมยางสังเคราะห์ ทั้งยางบิวทาไดอีน และยางสไตรีนบิวทาไดอีน (SBR) ซึ่ง-ภายในกระบวนการผลิตยางสังเคราะห์ของบริษัทนี้ใช้กระบวนการสังเคราะห์แบบสารละลาย คือต้องใช้ตัวทำละลายไปละลายวัตถุดิบตั้งต้น (ภาษาพอลิเมอร์เราเรียกวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตพอลิเมอร์ว่ามอนอเมอร์ ซึ่งสำหรับโรงงานนี้มอนอเมอร์คือ 1,3-บิวทาไดอีน) แล้วใส่ตัวริเริ่มปฏิกิริยาลงไปเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาการสังเคราะห์พอลิเมอร์ให้ได้เป็นยางสังเคราะห์ตามต้องการ ซึ่งตัวทำละลายที่ใช้ก็คือโทลูอีน (โครงสร้างทางเคมีก็เป็นวงแหวนเบนซีนโดยมีกลุ่มเมทิลรวมอยู่ด้วย ตรงนี้อาจจะเข้าใจยากสักนิดหากไม่คุ้นเคยกับวิชาเคมีอินทรีย์นะครับแต่ไม่เป็นไรเอาเป็นว่าสารนี้นะมีวงแหวนเบนซีนรวมอยู่ด้วยก็แล้วกัน ซึ่งเจ้าวงแหวนเบนซีนนี้นะเป็นตัวสำคัญที่เรียกว่าสารก่อมะเร็ง) จากการสืบค้นข้อมูลของโทลูอีนพบว่า เป็นตัวทำละลายที่มีค่าความดันไอต่ำ ติดไฟง่าย มีค่า TLV-TWA (ค่าบ่งบอกปริมาณที่สัมผัสสารเคมีแล้วจะไม่เป็นอันตรายต่อคนทำงานในระยะเวลา 8 ชั่วโมง) อยู่ที่ 50 ppm ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง หากเทียบกับเบนซีนซึ่งมีค่า TLV-TWA แล้วมีค่าเพียง 0.5 ppm ซึ่งมีค่าสูงมาก (ค่า TLV ต่ำแสดงว่าสัมผัสหรือร่างกายรับได้เพียงนิดเดียวก็สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายของคนที่สัมผัสแล้ว หากมีค่าสูงแสดงว่าปลอดภัยกว่าเพราะรับได้มากกว่านั่นเอง) อันตรายต่อสุขภาพของโทลูอีนเมื่อสูดดมเข้าไปโดยตรงจะก่อให้เกิดการระคายเคือง เกิดอาการปวด และวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ และมึนงง แต่หากไปสัมผัสถูกผิวหนังจะก่อให้เกิดการระคายเคือง ทำให้เกิดผื่นแดงได้ หากมีการสูดดม หรือสัมผัสโดยตรงเป็นระยะเวลานานๆ อาจมีผลทำลายอวัยวะภายในประเภท ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ และสมองได้ สารนี้มีความเสถียร (ไม่สลายตัวเป็นสารอื่นในภาวะปกติ) แต่หากเกิดการสลายตัวจากการเผาไหม้อาจทำให้เกิดเป็นออกไซด์ของคาร์บอน และออกไซด์ของไนโตรเจนได้ สารเคมีนี้จัดเป็นสารเคมีอันตรายตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ชนิดที่ 3

เอาละครับรู้ข้อมูลพื้นฐานของเจ้าสารโทลูอีนเบื้องต้นไปแล้ว คราวนี้มาวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวกันบ้างครับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดที่บริเวณโรงเก็บสารตัวทำละลายของโรงงาน ซึ่งขณะเกิดเหตุตามที่แถลงการณ์อยู่ในระหว่างช่วงซ่อมบำรุงประจำปีของโรงงาน โดยทั่วไปโรงงานปิโตรเคมีใหญ่เมื่อเดินเครื่องการผลิตไปได้ระยะเวลาตามกำหนดจะต้องมีการปิดซ่อมบำรุงเพื่อทำการตรวจซ่อมบำรุงเครื่องจักร และเปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยาบางตัวที่ถึงรอบการหมดอายุ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติครับ ในช่วงที่เรียกว่า Shut down ใหญ่แบบนี้ จะมีผู้รับเหมาช่วงเข้ามาในโรงงานค่อนข้างมาก โดยปกติแล้วโรงงานเองจะไม่มีบุคลากรทำการซ่อมบำรุงใหญ่แบบนี้ครับ แต่หากเป็นการซ่อมบำรุงปกติธรรมดาในระหว่างที่มีการเดินเครื่องการผลิต อันนี้จะมีหน่วยซ่อมบำรุงดูแล แต่หากเป็นซ่อมบำรุงใหญ่ต้องทำการตรวจเช็คทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องมีการว่าจ้างผู้รับเหมาช่วงตามความถนัดของแต่ละผู้รับเหมาในการเข้ามาทำการซ่อมบำรุง เมื่อมีคนงานซึ่งไม่ใช่คนงานประจำของโรงงานเข้ามา ต้องเข้าใจครับว่าแต่ละบริษัทรับเหมามีมาตรฐานของเรื่องความปลอดภัยที่ไม่เท่ากัน ยิ่งคนงานเข้ามาเยอะมากๆ ในคราวเดียวกัน และฝ่ายความปลอดภัยของโรงงานเจ้าของหากมีกำลังน้อย หรือไม่เข้มงวดเท่าที่ควรแล้วละก็ ตรงนี้ครับเป็นจุดที่ผมเองก็เคยได้คุยกับเพื่อนภาคอุตสาหกรรมหลายๆ ท่านเหมือนกันว่าเป็นจุดอ่อนของความปลอดภัยมากๆ แล้วผมก็พอคาดเดาถึงเหตุการณ์นี้ได้ว่าคนงานของบริษัทรับเหมาช่วงน่าจะไม่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอกับบริเวณพื้นที่ที่ตัวเองกำลังทำงานว่าเป็นพื้นที่ของสารเคมีที่มีไอระเหยและติดไฟได้ง่าย ยิ่งหากทำงานด้วยความประมาทแล้วด้วยละก็ จะยิ่งเป็นการสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวได้ง่ายขึ้นอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยทีเดียว ตรงนี้ผมคงวิเคราะห์ได้เพียงเท่านี้ครับเพราะการสืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น แต่ให้คาดเดาตามความคิดผมก็น่าจะออกมาทำนองนั้น

ต่อไปเมื่อเกิดประกายไฟ บวกกับพื้นที่ปิด ไอระเหยของตัวทำละลาย แน่นอนครับ ว่าต้องเกิดการระเบิดจากแรงอัดของความเข้มข้นของไอ และตัวทำละลายภายในถังบรรจุ เกิดความร้อน เผาไหม้ แน่นอนว่าตัวทำละลายดังกล่าวต้องเกิดการสลายตัว ตามทฤษฎีการเผาไหม้สารอินทรีย์ประเภทไฮโดรคาร์บอนหากเป็นการเผาไหม้โดยสมบูรณ์ต้องได้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำครับ ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์นี้เป็นก๊าซที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์แต่จัดเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อภาวะโลกร้อน แต่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นเป็นกลุ่มหมอกควันสีดำ ซึ่งเป็นการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ครับ ซึ่งแน่นอนรวมกับเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ก็น่าจะได้ออกไซด์ของคาร์บอนตัวอื่น เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ และหากรวมกับไนโตรเจนในอากาศก็ได้ออกไซด์ของไนโตรเจน สูดดมเข้าไปหากเล็กน้อยก็มึนงงครับ มากๆ ก็หมดสติ แต่หากมีไอระเหยของตัวทำละลายปนเข้าไปด้วยสูดดมเข้าไปก็อย่างที่กล่าวข้างต้นครับ มึนงง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก็เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปในสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ และถ่ายเท หากสัมผัสถูกผิวหนังไม่ต้องตกใจให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆ ครับ แต่หากพลาดไปกลืนกิน (กลืนกินโทลูอีนโดยตรงนะครับไม่ใช่กลืนกินควัน) ก็พยายามให้อาเจียนออกมาครับ ตอนเกิดเหตุเห็นว่าฝนตกด้วย ก็หากควันดังกล่าวรวมกับน้ำ หรือไอน้ำก็ตกลงมาบนพื้นดิน หรือแหล่งน้ำครับ ลักษณะก็จะเป็นน้ำที่มีลักษณะของความเป็นกรดเล็กน้อย หากไม่มีสารเคมีอันตรายตัวอื่นปนอยู่ในบริเวณตามที่แถลงการณ์เบื้องต้นออกมา ผมว่าการควบคุมผลกระทบในระยะสั้น และยาวของระบบนิเวศวิทยา ในพื้นที่ไม่น่าเป็นห่วงครับ ด้วยเพราะโครงสร้างสารดังกล่าวเป็นไฮโดรคาร์บอน ซึ่งประกอบด้วยไฮโดรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก หากตัวเขาเองปนออกมาด้วย แนวโน้มของการสะสมทางชีวภาพจะต่ำครับ แต่หากลงไปในแหล่งน้ำปริมาณสูงมากๆ อันนี้จะกระทบต่อสิ่งมีชิวิตในแหล่งน้ำครับด้วยเพราะตัวเขาจะระเหยง่าย ซึ่งจะเป็นไอปกคลุมผิวน้ำ แต่ต้องปริมาณสูงมากๆ นะครับ แต่ทั้งนี้ผมเสนอว่าควรมีการตรวจสอบคุณภาพอากาศ และคุณภาพของแหล่งน้ำทั้งน้ำผิวดิน และชายฝั่งของบริเวณดังกล่าวภายหลังเหตุการณ์ควบคุมได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนครับ

มาถึงตอนท้ายของบทวิเคราะห์กับเหตุการณ์ดังกล่าวเบื้องต้นแล้วครับ ในความคิดผม เหตุการณ์นี้ทำให้ได้บทเรียนเพื่อการป้องกัน ดังนี้

โรงงานที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรยกระดับ และสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัยของพื้นที่ ทั้งแผนความปลอดภัย แผนฉุกเฉิน แผนอพยพ ซึ่งแน่นอนครับว่าทุกโรงงานนะมีอยู่แล้ว การนิคมฯ ก็มี แต่ผมอาจจะเน้นที่การสื่อสารสู่ชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ตรงนี้เรียกกว่ากันไว้ดีกว่าแก้ครับ

ช่วงระหว่างการซ่อมบำรุงใหญ่ มีผู้รับเหมาช่วงเข้ามาจำนวนมาก โรงงานเจ้าพื้นที่ควรเข้มงวด และมีการ orientation (การกำหนดเป้าหมาย - มติชนออนไลน์) เรื่องของมาตรการความปลอดภัยภายในโรงงานของตนเอง รวมถึงพื้นที่ที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยให้กับพนักงานของผู้รับเหมาก่อนที่จะอนุญาตให้เริ่มทำงาน ความเข้มงวดเป็นสิ่งสำคัญ การให้ใบแดงไล่ออกเลยน่าจะเป็นกรณีที่ดีกว่ายื่นแค่ใบเหลืองครับ

เกิดเหตุแล้วการสื่อสารเพื่อลดความตื่นตระหนกถือเป็นเรื่องสำคัญ และต้องเร่งด่วนครับ เพียงแค่ครึ่งวันของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเองก็ยังไม่ได้รับความชัดเจนเท่าที่ควร โดยเฉพาะการอธิบายทางวิชาการที่สามารถลดแรงเสียดทาน และความตื่นตระหนกของชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบได้ เสนอว่าต้องเร็ว ชัดเจน และมีเหตุมีผลทางวิชาการครับ

การสร้างความมั่นใจในพื้นที่ด้วยการตรวจสอบคุณภาพอากาศ แหล่งน้ำ และสุขภาพโดยรอบของพื้นที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำทั้งในระยะสั้นและยาวครับ อย่าลืมครับถึงแม้โทลูอีนจะอันตรายน้อยกว่าเบนซีน แต่โครงสร้างของเขาเองก็ยังประกอบด้วยเบนซีน ผมเองก็ยังว่าก่อมะเร็งอยู่ดีนะแหละครั

บทความนี้อาจยาวไปสักนิดครับ แต่อยากวิเคราะห์ให้ได้ถึงกึ๋นจริงๆ ไว้เหตุการณ์มีความชัดเจนมากกว่านี้ ผมเองอาจนำข้อเท็จจริงมาวิเคราะห์ให้อ่านกันต่อไปครับ

ผศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

22.00 น. วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

-----------------
ภาพจาก apacnews.net

ที่มาเฟซบุ๊ก en_mahidol

สารพิษอะไรบ้างจากเหตุระเบิดโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ BST ที่มาบตาพุด ไม่ชัดเจน

 

สารพิษอะไรบ้างจากเหตุระเบิดโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ BST ที่มาบตาพุด ไม่ชัดเจน



by มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) on Monday, May 7, 2012 at 5:42pm ·


สารพิษอะไรบ้างจากเหตุระเบิดโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ BST ที่มาบตาพุด ไม่ชัดเจน


19.00 น., 5 พ.ค. 55

จากเหตุโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ ของบ. กรุงเทพซินธิติกส์ ระเบิดที่มาบตาพุด ตั้งแต่ช่วงเวลา 15.30 น. ที่ผ่านมาและเพิ่งจะควบคุมเพลิงได้ประมาณเวลา 18.00 น. ทำให้มีผู้บาดเจ็บ47 ราย สาหัส 6 ราย โดย 2 ราย (ตามรายงาน รมช.สาธารณสุข) และมีคำสั่งอพยพ 18 ชุมชนรอบและทิศใต้ลมของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

[เพิ่มเติมข้อมูล วันที่ 6 พ.ค. 2555 รายงาข่าวระบุยอดผู้เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 127 ราย]

 

3 ชั่วโมงผ่านไป จนถึงขณะนี้ (18.30 น.) แม้ผู้ว่าฯจะประกาศควบคุมเพลิงได้แล้วและประกาศให้รอบนิคมเป็นเขตภัยพิบัติ แต่ยังไม่มีการให้ข้อมูลแก่สาธารณะอย่างชัดเจนว่าสารพิษที่รั่วไหลและฟุ้งกระจายไปกับกลุ่มควันและการระเบิดครั้งนี้เป็นสารอะไรบ้าง (บ้างก็ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง บ้างก็ว่าเป็นสารทพให้ระคายเคืองผิว)  เหตุการณ์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าทั้งภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ยังบกพร่องในการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเรื่องสารพิษจากโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีการผลิตและการใช้หรือปลดปล่อยสารพิษจำนวนมากเช่นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ตลอดเวลาและโดยง่าย เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเหตุโรงงานระเบิดครั้งนี้ได้ 

 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสารพิษซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและอันตรายระยะยาว ที่อาจมีการใช้หรือเกิดในกระบวนการผลิตของโรงงานบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ที่มาบตาพุดได้แก่ เช่น BTEX (Benzene เบนซีน, Toluene โทลูอีน, ethylbenzene เอธิลเบนซีน, Xylene ไซลีน), Hexane เฮกเซน รวมถึงอาจมีการใช้ 1,2-Dichloroethane และ 1,3-Butadiene ซึ่งเป็นสารที่อันตรายทั้งเฉียบพลันและระยะยาวในกระบวรการผลิตด้วย ส่วนการเผาไหม้ของยางรถยนตร์สามารถทำให้เกิด PAHs (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ซึ่งสารในกลุ่มนี้หลายตัวจัดเป็นสารก่อมะเร็งด้วยเช่นกัน 

 

ตัวอย่างข้อมูลเกี่ยวกับอันตราย ความเป็นพิษ และความปลอดภัย ของสารเคมีที่กล่าวถึง

Benzene ดูได้จาก http://www.chemtrack.org/Chem-Detail.asp?ID=00289&CAS=&Name=

1,2 Dichloroethane ดูได้จาก http://www.chemtrack.org/Chem-Detail.asp?ID=00709&CAS=&Name=1,2-Dichloroethane 

1,3-Butadiene http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=1&ID=28

Toluene ดูจาก http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=1&ID=48  http://www.chemtrack.org/Chem-Detail.asp?ID=02040 

Hexane ดูจาก http://www.chemtrack.org/Chem-Detail.asp?ID=01030 

Xylene ดูจาก http://www.chemtrack.org/Chem-Detail.asp?ID=02141 

 

เกี่ยวกับโรงงานทีีเกิดเหตุ 

บจก.กรุงเทพ ซินธิติกส์ หรือ Bangkok Synthetics Co., Ltd. (http://www.bst.co.th/

ผลิต Mix C4 รายแรกของไทยและส่งออกรายใหญ่ที่สุดใจภูมิภาค และโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ S-SBR (Solution Polymerization Styrene-Butadiene Rubber) แห่งแรกในประเทศไทย ร่วมทุนกับ JSR ของญี่ปุ่น (ทำสัญญาเมื่อ มีนาคม 2554) และอยู่ในช่วงระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโรงงานผลิต NB Latex ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตถุงมือทางการแพทย์ (ที่มา http://www.newswit.com/prop/2011-03-07/4d70660d9e328f7284e30c6395b9eef4/

ทะเบียนโรงงาน น.42 (1)-15/2537-ญนพ.  ระบุว่าผลิต Mixed C4 (MTBE,BUTANE-1,BUTADIEN) เป็นโรงงานประเภท 4201 (การทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี) (ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าโรงที่ผลิตยางรถยนตร์และ Latex สังเคราะห์ จดทะเบียนเดียวกันหรือจดทะเบียนแยก)

 

ผังกระบวนการผลิตแผนกผลิตยางสังเคราะห์ที่คาดว่าเป็นต้นตอปัญหา 

http://www.bst.co.th/product.aspx?cate=2

 

 


เวปไซต์บริษัท BST


https://www.facebook.com/note.php?note_id=373153622719868

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

Re: ไว้อาลัยต่อการละเบิกโรงงานกรุงเทพซินเนติกมาบตาพุดกับ 19ปีเคเดอร์




 

From: wept_somboon@hotmail.com
To:
Subject: ไว้อาลัยต่อการระเบิดโรงงานกรุงเทพซินเนติกมาบตาพุดกับ 19 ปีเคเดอร์

Date: Sun, 6 May 2012 07:42:07 +0700

       ตายกี่ศพสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ถึงจะเกิด  
               อีก 5 วันจะครบรอบจัดงาน 19 ปีเคเดอร์ เรื่องสลดใจเป็นเหตุระเบิดโรงงานกรุงเทพซินเนติก BSTเมื่อวานเป็นโศกนาฎกรรมที่มีคนตายทันที 5ศพ สาหัส 2ประสบอันตรายเจ็บกระทันหันเข้า รพ. 92 ราย อพยพคนในชุมชนออก 12 ชุมชน เป็นเรื่องใหญ่มากๆ และ เจ้าหน้าที่ หรือสื่อมวลชน ที่เข้าไปดู คนเหล่าจะได้รับสารเคมีเข้าไป เพราะกลิ่นก๊าซพิษลอยคละคลุ้งไปเป็น 10กก.ซึ่งไม้รู้ว่า อีกระยะ 10 ปีต่อมาพวกเขาเกิดเป็นมะเร็งก็ไม่สามารถเรียกร้องเอาค่าเสียหายรักษาพยาบาลเอากับใครได้ เพราะหลักฐานมันหายไป
 
กับกาลเวลาที่ล่วงเลยไป รัฐไม่มีระบบติดตามตรวจสอบผลกระทบระยะยาว เพราะขาดบุคลากร แค่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็แทบรับมือไม่ไหวแล้ว จะเข้าไปดูก็จะไปทนสูด
 
อากาศพิษไม่ไหว ขนาดไม่ได้ระเบิดแค่สารเคมีรั่วไหล เมื่อครั้งก่อนๆ ยังส่งผลให้คนในชุมชนต้องล้มป่วยแล้วนี่ระเบิดขนาดนี้ มันย่อมกระทบผู้คนจำนวนหลายพันคน 
               นิคมอุตสาหกรรมเกือบทุกที่ จะปลอดเรื่องการดูแลควบคุมจากภาครัฐ ปลอดกฎหมายปล่อยให้นิคม ขูดรีดคนงานอย่างสุดๆ รัฐจะอ้างปัดความรับผิดชอบเสมอว่า ในนิคมขนาดใหญ่นั้นเรื่องความปลอดภัยได้มาตราฐานไม่มีปัญหา แต่แท้จริงแล้วรัฐจะเปิดโอกาสให้พวกนายทุนรู้สึกว่า มาลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมกันมากๆ เถอะ รัฐพยายามเปิดทางลดช่องว่างทุกอย่างเพื่อ่ชวนเชื่อโดยไม่คำนึกถึงคนงานที่เป็นลูกหลานคนไทยต้องเสี่ยงภัยกับการสูญเสียสุขภาพ เพียงใดขนาดไหน มองดูชีวิตลูกหลานคนงานไทยมันช่างดูด้อยค่าเสียจริงๆ เพียงค่าแรงไม่กี่บาทที่ต้องยอมทำงานอย่างหักโหมถึงวันละ 16 ชั้วโมงเพื่อแลกกับรายได้ที่จะเอาไปจุนเจือครอบครัว
                สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่เครือข่ายแรงงาน นักวิชากากรด้านแรงงาน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย ฯ ต้องออกแรงและลงทุนด้วยน้ำพักน้ำแรงานกลุ่มคนป่วยอย่างมหาศาล แบบกัดไม่ปล่อยติดตามผลักดันอย่างจริงจังต่อเนื่องมายาวนานย่างเข้า 19 ปี จะใกล้คลอดได้แล้วหรือศูนย์ข้อมูลรับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อให้เข้ากับวัตถุประสงค์สถาบันฯ ในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลและสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยในสถานประกอบการ เพื่อทำการป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน ต้นตอของปัญหาแบบสดๆ เท่าทันข้อมูลครบถ้วน ไม่บิดเบือนความจริง และการสรรหากรรมการที่มีจิตใจทัศนคติต่อเรื่องความปลอดภัยเข้าไปบริหารสถาบันฯนี้ หากยังจัดการและนำคนที่ไม่เข้าใจ เฉื่อยชา ต่อปัญหาเรื่องสุขภาพ กระนั้นการร่างกฏหมาย พรฏสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯฉบับนี้ รัฐก็ยังปฎิเสธเนื้อหาสำคัญที่เป็นข้อเสนอของเครือข่ายแรงงาน นักวิชาการแรงงาน ไม่ยอมใส่ความปลอดภัยแบบลากตั้งกันเข้าไปแล้ว สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ก็คง เป็นเสมือนสถาบันฯที่มีความสำคัญเป็นเพียงแค่รถคันหนึ่งที่ขาดตัวเครื่องกลที่จะขับเคลื่อนบริหารจัดการนโยบายสำคัญของสถาบันฯ 
 
ขาดสมองที่บัญชาการงานด้านความปลอดภัยได้ รถเก่าๆ คันนั้นก็จะจอดสนิทโดยสิ้นเชิง จากการศึกษาข้อมูลของกองทุนปี 2553 คนงานภายใต้การคุ้มครองของกองทุนเงินทดแทน 8,177,618 รายที่ทุพลลภาพเข้าใช้สิทธิจากกองทุนเงินทดแทนได้ 146,511รายคิดเป็นอัตราการประสบอันตรายต่อลูกจ้าง 1000 คนประสบอันตราย 17.92ราย
 
รัฐสูญเสีค่าทดแทนไปกว่า 1,500 ล้านบาทซึ่งไม่นับคนงานที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทนได้และเป็นจำนวนอีกเท่าไหร่ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทนได้นั้นเป็นตัวเลขที่หายไปอีกนับไม่ถ้วน ในจำนวนนั้นพวกเขากำลังเจ็บป่วยถูกเลิกจ้างปลดออกจากการทำงานอย่างไร้ความชอบธรรม กำลังอยุ่ระหว่างอุทธรณ์คำวินิจฉัยของกองทุน ต่อสู้คดี และกำลังฟ้องนายจ้างเพื่อให้นายทุนรับผิดชอบต่อความบกพร้องละเลยของสถานประกอบการ ซึ่งคนงานเหล่านั้นใจจริงเขาไม่ได้อยากมีคดีหรือมีปัญหาถึงโรงถึงศาลอะไรเขาก็คือคนงานที่อยากเอาเวลามาประกอบอาชีพแบบปกติ แต่เมื่อต้องสูญเสียสุขภาพอวัยวะประกอบอาชีพไม่ได้ทั้งยังต้องรักษาตัวต่อเนื่องจึงทำให้พวกเจาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อ
 
สิทธิขั้นพื้นฐานตามกฏหมายเท่านั้น
               ในวาระจะครบรอบ 19 ปี โศกนาฎกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไฟไหม้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ที่ทำให้คนงานวัยหนุ่มสาวต้องสังเวยชีวิตไปแบบไม่ทันตั้งตัวถึง 188 ศพ ต้องบาดเจ็บสูญเสียสุขภาพอวัยวะ 469 ราย พี่น้องที่พึ่งเสียชีวิตที่โรงงานกรุงเทพซินเนติก ฯ และจากพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วประเทศ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ต้องขอคาราวะดวงวิญญานของพี่น้องคนงานเหล่านั้น ที่ต้องล้มตายและเสียชีวิต ด้วยการประสบอันตรายและเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงาน รวมทั้งครอบครัว ขออุทิศส่วนบุญกุศลที่องค์กรผู้ถูกผลกระทบได้ทำไปตลอดระยะเวลา 19 ปียังผลให้ดวงวิญญาณพี่น้องแรงงานทั้งหลายที่กำลังทุกข์อยู่ได้มีความสุขพ้นทุกข์ที่มีความสุขให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไปและขอบุญกุศลที่องค์กรผู้ป่วยฯได้อุทิศในการทำประโยชน์ในการช่วยพี่นน้องให้ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายและทุ่มเททำงานผลักดันนโยบายเพื่อคุ้มครองสุขภาพพี่น้องคนงานเหล่านี้ จงบังเกิดให้สิ่งที่มุ่งหวังให้รัฐจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้คลอดออกมาอย่างสมบูรณ์ตามที่เครือข่ายแรงงานต้องการโดยเร็วพลัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการทำงานปกป้องคุ้มครองพัฒนาส่งเสริมด้านสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานของผู้ใช้แรงงานในอนาคตต่อไป
 

สมบุญ สีคำดอกแค
ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
โทรศัพท์ติดต่อ 081-813-28-98
 
begin_of_the_skype_highlighting  081-813-28-98  
 
end_of_the_skype_highlighting
 

 

สุขภาพดีคือชีวิตที่มั่นคง ความปลอดภัย คือ หัวใจของการทำงาน