กทค.ประเดิมพิจารณาเรื่องร้องเรียนมือถือ
กทค.ประเดิมพิจารณาเรื่องร้องเรียนมือถือ โชว์ไอเดีย ผุดศูนย์ไกล่เกลี่ยคุ้มครองผู้บริโภค...
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. กล่าวว่า จากการที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 5/2554 เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งค้างการพิจารณาจากบอร์ดชุดที่แล้ว โดย กทค.นำมาพิจารณาเสร็จไปทั้งสิ้น 28 เรื่อง ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 หมวด 5 ที่ว่าด้วย สิทธิของผู้ใช้บริการ ตามมาตรา 45 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาแต่การให้บริการโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาต ผู้นั้นมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อสำนักงาน โดยหนังสือร้องเรียนตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุข้อเท็จจริงที่แจ้งชัด และถ้ามีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวก็ให้ส่งไปพร้อมหนังสือนั้นด้วย
นอกจากนี้ การพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าวยังเป็นการพิจารณาโดยอาศัยบรรทัดฐานจากคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 1474/2554 โดยศาลพิพากษาให้ กทช.รักษาการ กสทช. ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 11 วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่า การให้บริการโทรคมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการเป็นการล่วงหน้า จะต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ ผู้ให้บริการจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า ดังนั้นสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า หรือพรีเพด ซึ่งมีการระงับการให้บริการ เนื่องจากวันใช้บริการหมดอายุ จึงขัดต่อประกาศดังกล่าว และ กทค.ต้องบังคับให้เป็นไปตามประกาศฯและคำพิพากษาดังกล่าวด้วย
ในการนี้ที่ประชุม กทค. มีการหยิบยกข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ ข้างต้น มาประกอบการพิจารณา ซึ่งกทค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ผ่านมาในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้จะเป็นการพิจารณาจากเอกสารการร้องเรียน และเอกสารชี้แจงจากผู้ประกอบการเท่านั้น โดยหลายกรณีต้องมีการชี้แจงทางเอกสารเพิ่มเติม แต่ไม่ได้มีการเชิญตัวผู้ร้อง และผู้ถูกร้องมาให้ข้อมูล เพื่อนำไปประกอบเอกสารการร้องเรียนด้วย จึงทำให้คณะกรรมการขาดข้อมูลอย่างครบถ้วนและรอบด้าน ส่งผลทำให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาของกฎหมายและประกาศของ กทช.ที่กำหนด และถึงแม้ ว่า กสทช.จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านโทรคมนาคม เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคไปแล้วก็ตาม แต่เนื่องด้วยจำนวนของเรื่องร้องเรียนมีปริมาณมากและเพิ่มขึ้นทุกวัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะพิจารณาเรื่องร้องเรียนเหล่านี้ให้เสร็จได้ตามกรอบระยะเวลาดังกล่าวได้
"ที่ประชุม กทค.เห็นชอบตามที่ผมเสนอในแนวทางการปรับปรุงกระบวนการรับฟังคำชี้แจงและข้อมูลจากคู่กรณี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเกิดความเป็นธรรม โดยจะเชิญผู้ร้องเรียน และผู้ถูกร้องเรียนมาให้ข้อมูลรายละเอียด พร้อมลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่เพิ่มภาระให้คู่กรณี แต่จะทำให้ประสิทธิภาพการดำเนินการในเรื่องนี้ดีขึ้น และเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น" นายสุทธิพล กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุม กทค. ยังเห็นชอบกับแนวคิดที่จะนำเอาระบบการไกล่เกลี่ยที่มีมาตรฐาน และกระบวนการที่ชัดเจน เพื่อช่วยเสริมเป็นกลไกในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณี ด้วยการเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายมานั่งโต๊ะเจรจากัน โดยจะมีผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ และมีความเป็นกลาง ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย เพราะแม้ในปัจจุบันจะมีการนำการเจรจาไกล่เกลี่ยมาใช้ แต่เป็นเรื่องที่คู่กรณีไกล่เกลี่ยกันเอง ส่วนการไกล่เกลี่ยในส่วนของสำนักงาน กสทช. ก็เป็นเรื่องดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยยังไม่มีการนำกลไกไกล่เกลี่ยที่เป็นมาตรฐานมาใช้ ฉะนั้นหากการดำเนินการไกล่เกลี่ยเป็นผลสำเร็จก็จะช่วยให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนยุติลงได้รวดเร็วขึ้น แต่หากการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ก็สามารถนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามปกติต่อไป ทั้งนี้การตัดสินใจว่าจะเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยหรือไม่นั้น เป็นความสมัครใจของคู่กรณี
นายสุทธิพล กล่าวอีกว่า หากสามารถนำระบบการไกล่เกลี่ยที่ว่ามาใช้กับเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะนับได้ว่าเป็นมิติใหม่ ที่ช่วยให้ความเดือดร้อนของผู้บริโภคได้รับการเยียวยา และก็ยังจะได้รับความเป็นธรรมในเวลาที่รวดเร็วขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะทำให้คู่กรณีเกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันและมีส่วนร่วมในการยุติข้อโต้แย้งด้วยการหาทางออกร่วมกัน โดยกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วทั้งในและต่างประเทศว่าเป็นกลไกระงับข้อขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม อีกทั้งไม่เป็นการเพิ่มภาระให้คู่กรณี ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะต้องนำเอาแนวคิดนี้ไปหาแนวทางให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว
โดย: ทีมข่าวไอทีออนไลน์
24 พฤศจิกายน 2554, 17:30 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น