วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วงโคจรดาวเทียม "สมบัติชาติ" โอกาส "ไทยคม-เอเชียแซท" ประมูล "คลื่น" กสทช.ผูกปมใหม่

 
วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 11:41:09 น.

วงโคจรดาวเทียม "สมบัติชาติ" โอกาส "ไทยคม-เอเชียแซท" ประมูล "คลื่น" กสทช.ผูกปมใหม่

Share






เงียบกริบไปพักใหญ่ แต่ยิ่งใกล้สิ้นปี ก็ยิ่งใกล้ถึงเส้นตายในการรักษาสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม 120 องศาตะวันออก ซึ่งปล่อยเว้นว่างมาหลายปี ไม่ทำอะไรจนจะหมดอายุในเดือน ม.ค. 2555

กรณีรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียมเกี่ยวพันมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน 

ก่อนหน้านี้ข้อสรุปในเบื้องต้นคือ "ไทยคม" จะเป็นผู้ดำเนินการรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียมให้เอง โดยรับมอบหมายจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เนื่องจากเห็นว่าวงโครจรเป็น "สมบัติชาติ" ที่จำเป็นต้องรักษาไว้ เมื่อภาครัฐไม่มีความสามารถดำเนินการ ภารกิจจึงตกเป็นของเอกชน 

ไม่เฉพาะ 120 องศาตะวันออก แต่มีจ่อคิวหมดอายุอีกหลายวงโคจร แต่ 120 องศาตะวันออกเป็นคิวแรก

วิธีที่จะรักษาสิทธิการใช้วงโคจรไว้ได้ คือส่งดาวเทียมขึ้นไปในวงโคจรนั้น ๆ ซึ่ง "ไทยคม" ใช้วิธีเจรจากับผู้ประกอบการที่มีดาวเทียมอยู่แล้ว เพื่อลากมาใช้ วงโคจรดังกล่าว

"ไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์"ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงไอซีที ระบุว่า การประสานงานเจรจาการใช้คลื่นความถี่ระหว่างรัฐกับรัฐได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการนำดาวเทียมมาวางไว้ที่ตำแหน่ง 120 องศา ให้ทันก่อนหมดสิทธิใช้งานในเดือน ม.ค. 2555 นี้ ซึ่งไทยคมได้ดำเนินการเจรจากับบริษัทเอเชียแซทของประเทศจีน เพื่อลากดาวเทียมเอเชียแซทมาไว้ในตำแหน่งดังกล่าวแล้ว

"ณ เวลานี้จึงถือได้ว่าไทยรักษาสิทธิวงโคจรนี้ไว้ได้เกือบ 100% แล้ว เหลือแค่ให้ กสทช.ออกใบอนุญาตให้ไทยคมเท่านั้น ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดกระทรวงไอซีทีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัมปทาน เพียงแต่การดำเนินงานของดาวเทียมในตำแหน่งนี้ ไทยคมต้องทำในรูปแบบของการได้รับใบอนุญาต และจ่ายเงินเข้ารัฐในรูปแบบของค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตให้ กสทช. ตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ. กสทช. ไม่ใช่จ่ายส่วนแบ่งสัมปทานเหมือนดาวเทียมดวงอื่นของไทยคม" 

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือตกกระไดพลอยโจน "ไทยคม" ก็ได้สิทธิใช้วงโครจร 120 องศาตะวันออกไปแล้วเรียบร้อย 

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า สิทธิในการใช้วงโคจรเป็นของประเทศไทย แต่กระทรวงไอซีทีได้อนุญาตให้ไทยคมเข้าไปใช้งานได้ โดยมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยน คือต้องแบ่งช่องสัญญาณ 1 ทรานสปอนเดอร์ ให้หน่วยงานได้ใช้ประโยชน์

"เราไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ไทยคม เพียงทำหน้าที่ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ไอซีทีรักษาสิทธิการใช้งานวงโคจรดาวเทียมของประเทศ ถ้าเราไม่รักษาสิทธิไว้ก็ไม่ได้อะไรเลย การรักษาสิทธิไว้ได้อย่างน้อยรัฐก็มีดาวเทียมใช้ตามเงื่อนไขส่วนแบ่งช่องสัญญาณและมีรายได้จากค่าธรรมเนียม"

อย่างไรก็ตาม แม้การรักษาสิทธิวงโคจรดังกล่าวจะเดินมาเกือบสุดทางแล้ว เพราะในเชิงธุรกิจระหว่าง "ไทยคม" และ "เอเชียแซท" ตกลงกันได้แล้ว แต่ดีลนี้ยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด 100% จนกว่าจะได้ใบอนุญาตจาก "กสทช." ซึ่งอาจมีปัญหาในเชิงกฎหมายต้องตีความอีกไม่น้อย

ด้วยว่ากิจการดาวเทียมเป็นกิจการที่ต้องใช้คลื่นความถี่โทรคมนาคม ซึ่งตาม พ.ร.บ. กสทช.กำหนดว่า การขอใช้คลื่นต้อง "ประมูล" อย่างเดียว

โดยกิจการดาวเทียมจะใช้คลื่นความถี่ 2 ส่วน คือคลื่นวิทยุคมนาคม และโทรคมนาคม 

การติดต่อระหว่างดาวเทียมกับวงโคจรจะใช้คลื่นวิทยุคมนาคมซึ่งไม่ต้องประมูล แต่ถ้าจะตั้งสถานีเพื่ออัพลิงก์ดาวน์ลิงก์สัญญาณใช้คลื่นโทรคมนาคมตามกฎหมายต้องประมูล 

ดาวเทียมดวงอื่น ๆ ภายใต้สัมปทาน "ไทยคม" ไม่มีปัญหานี้ เพราะได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายจากสัมปทาน แต่กับดวงใหม่ของ "เอเชียแซท" ถ้าไม่มีการดำเนินการในประเทศไทยก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ต้องตั้งสถานีรับส่งกระจายสัญญาณ แต่กับ "ไอพีสตาร์" ซึ่งดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และมีการตีความว่า เป็นดาวเทียมนอกสัญญาอาจมีปัญหา 

โดย "รัฐมนตรีไอซีที" กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ปัญหาการจัดสรรคลื่นความถี่ตาม พ.ร.บ. กสทช. ที่ระบุให้ต้องใช้การประมูลอย่างเดียวอาจส่งผลต่อการอัพลิงก์ดาวน์ลิงก์ของดาวเทียมไอพีสตาร์ ดังนั้น กสทช.ต้องเร่งกำหนดกติกาให้ชัดเจน เพื่อให้เอกชนประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน ไม่ใช่ปล่อยให้มีความเห็นมากมาย ต้องหาข้อสรุปที่เป็นมติของคณะกรรมการ กสทช.ให้ได้โดยเร็ว

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การประกอบกิจการดาวเทียมอยู่ในขอบเขตของ พ.ร.บ. กสทช. ถือเป็นการดำเนินการด้านโทรคมนาคม การออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการเป็นหน้าที่ กสทช.โดยตรง แต่จะวินิจฉัยว่า คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการดาวเทียม อาทิ การอัพลิงก์ดาวน์ลิงก์ระหว่างสถานีฐานภาคพื้นดินกับดาวเทียมในอวกาศ เป็นการใช้คลื่น เพื่อกิจการโทรคมนาคมหรือวิทยุคมนาคม 

หากเป็นการใช้คลื่นเพื่อกิจการโทรคมนาคม พ.ร.บ. กสทช.กำหนดให้ต้องจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลเท่านั้น ไม่สามารถใช้วิธีอื่นได้ แต่ถ้ามองว่าเป็นการใช้คลื่นวิทยุคมนาคม กฎหมายไม่ได้ระบุวิธีจัดสรรไว้ ดังนั้น "กสทช." จึงต้องตีความกฎหมายให้รอบคอบว่า สามารถทำได้ทันทีหรือต้องรอให้แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่, แผนแม่บทการประกอบกิจการโทรคมนาคม และแผนแม่บทประกอบกิจการกระจายเสียง-โทรทัศน์ ประกาศใช้ก่อน

ดร.สมเกียรติกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า กสทช.ควรหามาตรการที่เหมาะสมเกี่ยวกับการให้สิทธิประกอบกิจการดาวเทียมด้วย เพราะหลังจากนี้จะมีดาวเทียมดวงใหม่ ๆ เกิดในรูปแบบของการให้ใบอนุญาตแทนการให้สัมปทานที่กระทรวงไอซีทีเป็นผู้ได้รับส่วนแบ่งรายได้เดิม เช่น กรณีดาวเทียมที่นำมาวางไว้เพื่อรักษาสิทธิวงโคจรที่ 120 องศา ดังนั้นภาครัฐต้องมีกระบวนการแบ่งต้นทุนระหว่างรัฐกับเอกชนที่เหมาะสม

"ต่อไปกิจการดาวเทียมเป็นการจัดสิทธิพิเศษให้เอกชนโดยรัฐจึงต้องมีการแบ่งต้นทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม และเปิดให้แข่งขันด้วย แต่ต้องพิจารณาว่าจะเปิดให้มีกระบวนการแข่งขัน คือ มีเอกชนหลายรายเข้ามาเสนอผลตอบแทนที่เหมาะสมในขั้นตอนใด เพราะกิจการดาวเทียมต้องมีการประสานงานคลื่นความถี่กับต่างประเทศ มีความยุ่งยากซับซ้อน แม้จะระบุว่า เป็นหน้าที่รัฐบาลในนามประเทศ แต่ในทางปฏิบัติเอกชนเป็นผู้ประกอบการลงแรงเป็นส่วนใหญ่ คงไม่มีใครอยากทำเพื่อให้รัฐยกสิทธิไปให้คนอื่น ในทางกลับกัน ก็ไม่ควรเป็นหน้าที่รัฐที่จะลงแรงทั้งหมดแล้วยกให้เอกชน"

"ดร.สมเกียรติ" ย้ำทิ้งท้ายว่า นี่คือสิ่งที่ภาครัฐ ไม่ว่า กสทช.และกระทรวงไอซีที ต้องร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะนำไปใช้ในระยะยาว สำหรับดาวเทียมดวง ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่กับ "ดาวเทียม" ที่จะนำมารักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก "ตนขอไม่พูดถึง เพราะมีเหตุปัจจัยหลายเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้อง"

กรณีกิจการดาวเทียม ซึ่งมีกรณี "ไทยคม-เอเชียแซท" เป็นกรณีแรกจึงเป็นอีกเผือกร้อนของ "กสทช."


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1323664900&grpid=&catid=06&subcatid=0600

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น