วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สตง.ชำแหละ สปสช.ฝ่าฝืนมติ ครม.เพียบ มือเติบจ่ายเงินเดือน-เบี้ยประชุมสูง

 

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)เผยแพร่สรุปผลการตรวจสอบประเมินผลสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ปีงบประมาณ 2554 ทางเว็บไซต์เมื่อเร็วๆนี้โดยระบุว่า มีการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีหลายข้อทั้งการจ่ายเงินเดือนเลขาธิการ สปสช.ในอัตราสูงไม่เป็นไปตามสัญญา จ่ายเบี้ยประชุมให้ประธานและอนุกรรมการเกินกว่ามติ ครม. 2 เท่าตัว มั่วจ่ายเบี้ยเลี้ยง จ่ายโบนัสพนักงานโดยไม่มีมติคณะกรรมการ สปสช. ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ข้อตรวจพบที่ ๑  การใช้จ่ายงบบริหารไม่ถูกต้อง และไม่ประหยัด

๑.๑ การปรับอัตราเงินเดือนให้เลขาธิการสปสช.ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี กล่าวคือ การปรับอัตราเงินเดือนให้เลขาธิการหลังจากการประเมินผลการปฏิบัติงานปีที่ ๑ นั้นคณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินเดือนเป็นเดือนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท และเงินประจําตําแหน่งเดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นกรอบอัตราสูงสุดของกรอบเงินเดือนเลขาธิการตามมติคณะรัฐมนตรี ทําให้การปรับอัตราเงินเดือนของเลขาธิการปรับได้เฉพาะการปฏิบัติงานปีที่ ๒ ไม่สามารถปรับอัตราเงินเดือนตามผลงานเป็นระยะ ๆ ตลอดอายุสัญญา จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของการได้รับเงินเดือนของเลขาธิการตามมติคณะรัฐมนตรี

๑.๒ การจ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี สปสช. เป็นองค์การมหาชนในกลุ่มที่ ๓ อัตราเบี้ยประชุมกรรมการขั้นต่ําและขั้นสูงเท่ากับ ๖,๐๐๐- ๑๒,๐๐๐ บาท อนุกรรมการให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนตามที่คณะกรรมการกําหนดแต่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของอัตราเบี้ยประชุมกรรมการ และประธานอนุกรรมการให้ได้รับในอัตราสูงกว่าอนุกรรมการร้อยละ ๒๕

ดังนั้นอนุกรรมการตรวจสอบจะได้รับเบี้ยประชุมขั้นต่ําและขั้นสูงเท่ากับ ๓,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ บาท และประธานอนุกรรมการจะได้รับเบี้ยประชุมในอัตราไม่เกินเดือนละ ๗,๕๐๐ บาท

จากการตรวจสอบพบว่า อนุกรรมการตรวจสอบได้รับเบี้ยประชุมในอัตราคนละ ๑๖,๐๐๐บาทต่อเดือน และประธานอนุกรรมการตรวจสอบได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเดือนละ ๒๐,๐๐๐บาท ทําให้ตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๗ ถึงปัจจุบันเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ สปสช. จ่ายค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบสูงเกินกว่าที่คณะรัฐมนตรีกําหนดเป็นเงินจํานวน ๓,๑๐๕,๐๐๐บาท

๑.๓ การจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ให้แก่เจ้าหน้าที่ พนักงาน และลูกจ้างไม่เหมาะสม จากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลการจ่ายเงินโบนัสให้แก่เจ้าหน้าที่ พนักงาน และลูกจ้างของ สปสช. พบว่าไม่ได้นําเสนอข้อมูลที่ครบถ้วนต่อคณะกรรมการ โดยมีรายละเอียดคือ

ปีงบประมาณ ๒๕๔๙ สปสช. จ่ายเงินโบนัสจํานวนเงิน ๑๘,๗๐๒,๘๓๖.๐๐ บาท โดยไม่มีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ ในขณะที่ปีอื่น ๆ ทุกปีจะมีมติคณะกรรมการอนุมัติให้จ่าย และในปีงบประมาณ ๒๕๕๐ – ๒๕๕๑ สปสช. จ่ายเงินโบนัสให้พนักงาน ซึ่งไม่เป็นลูกจ้างของ สปสช. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกําหนดนโยบายบริหารทรัพยากรบุคคล

แต่ไม่ได้นําเสนอการจ่ายโบนัสให้พนักงานเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สปสช.ทําให้คณะกรรมการยังไม่ได้พิจารณาว่าการจ่ายโบนัสให้พนักงานถูกต้องตามแนวทางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสที่คณะกรรมการกําหนด การจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานในปีงบประมาณ ๒๕๕๐ – ๒๕๕๑ เป็นจํานวนเงิน ๒,๗๕๑,๖๑๕ บาท

๑.๔ การใช้จ่ายเงินบางรายการเป็นไปโดยไม่ประหยัด โดยมีรายละเอียดคือ การเดินทางเครื่องบินไม่เป็นไปตามประกาศ สปสช. เรื่อง ค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการ สปสช. พ.ศ.  ๒๕๕๐

จากการตรวจสอบพบว่า การเดินทางโดยเครื่องบินของผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นผู้ปฏิบัติงานหรือพนักงานตําแหน่งอื่น ๆ ที่มิใช่ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ หรือรองผู้อํานวยการสํานัก ทุกรายการไม่ได้ระบุถึงเหตุผลความจําเป็นที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบิน

นอกจากนั้น การจ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงการเดินทางในการจัดประชุมอบรมสัมมนาของ สปสช. ซึ่งถือปฏิบัติตามประกาศ สปสช.ดังกล่าวข้างต้นนั้น ทําให้การเข้าร่วมประชุมอบรมสัมมนาเมื่อมีการจัดอาหารเลี้ยงยังคงเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้เต็มสิทธิ แต่จากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๒๐ ได้กําหนดกรณีที่มีการจัดอาหารให้แก่ผู้เข้าประชุมอบรมสัมมนาที่ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงด้วยนั้น ให้หักค่าเบี้ยเลี้ยงได้ในอัตรามื้อละ ๑ ใน ๓ ของอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายต่อวัน แต่ประกาศของ สปสช. ดังกล่าวไม่ได้วางหลักเกณฑ์ข้อนี้ไว้ทําให้หน่วยงานมีการเบิกค่าใช้จ่ายซ้ําซ้อน

๑.๕ การจ้างที่ปรึกษาไม่เหมาะสม สปสช. จ้างที่ปรึกษาในลักษณะต่อเนื่องและอัตราค่าจ้างค่อนข้างสูง การจัดทําสัญญาจ้างที่ปรึกษาไม่ครบถ้วน การจ้างที่ปรึกษาทําหน้าที่ผู้บริหารระดับสูง และเอกสารการประเมินผลการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาสําหรับปีงบประมาณ ๒๕๕๑ และ ๒๕๕๒ ไม่สมบูรณ์

ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของ สปสช.เป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ประหยัด และคุ้มค่า สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเลขาธิการ สปสช.พิจารณาดําเนินการ ดังนี้

๑. ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

•  การปรับอัตราเงินเดือนให้เลขาธิการ สปสช.
๑.๑ แก้ไขการกําหนดอัตราเงินเดือนของเลขาธิการให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด

•  การจ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบ

๑.๒ ให้ตรวจสอบการจ่ายค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โดยหารือกับสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความเห็นว่า การปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบไม่ได้เป็นการมาประชุมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการจ่ายผลตอบแทนให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบในการปฏิบัติงานตรวจสอบ

•  การจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส)
๑.๓ ทบทวนการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานของ สปสช. โดยประสานงานกับสํานักงบประมาณและสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เพื่อให้การดําเนินการเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง และควบคุมกํากับให้ สปสช.ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการในการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ (เงินโบนัส) และนําเสนอจํานวนเงินที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ให้บุคลากรทุกประเภทของสํานักงานหลักประกันสุขภาพในแต่ละปีต่อคณะกรรมการ

•  การจ้างที่ปรึกษา
๑.๔ ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจ้างที่ปรึกษาให้มีความชัดเจน และควรให้ความสําคัญกับความจําเป็นที่ต้องมีที่ปรึกษาและกําหนดอัตราผลตอบแทนที่ไม่สูงมากเกินไป

๒. เลขาธิการสปสช.

•  การใช้จ่ายเงินกรณีการประชุม อบรม สัมมนา

๒.๑ แก้ไขประกาศสปสช. เรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการสปสช. พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือกําหนดเป็นแนวปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพิจารณากําหนดอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงให้เหมาะสมกรณีมีการจัดบริการอาหารให้ในระหว่างการประชุม อบรม สัมมนา เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณของแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เกิดความซ้ําซ้อนกับรายจ่ายอื่นที่หน่วยงานได้จ่ายให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมไปแล้ว และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามประกาศสปสช. เรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการสปสช. พ.ศ. ๒๕๕๐ เกี่ยวกับหลักฐานที่ใช้ประกอบการเบิกจ่าย เช่น กรณีเดินทางโดยเครื่องบินต้องกําหนดให้มีบัตรที่นั่งโดยสารเครื่องบินแนบรายการขอเบิกทุกครั้ง และหากมีการอนุมัติให้ผู้ปฏิบัติงานที่ตําแหน่งต่ำกว่ารองผู้อํานวยการสํานักเดินทางโดยเครื่องบิน ต้องระบุถึงเหตุผลความจําเป็นที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบินให้ชัดเจน โดยเหตุผลความจําเป็นดังกล่าวต้องคํานึงถึงความประหยัดและคุ้มค่าเป็นสําคัญ

ข้อตรวจพบที่ ๒    การบริหารพัสดุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนด

๒.๑ การบริหารพัสดุของ สปสช. ไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และข้อบังคับที่กําหนดไว้ คือ สปสช. ไม่ได้ส่งแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างให้สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินภายในกําหนดเวลาอย่างช้าภายในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ของทุกปี และแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างมีรายการไม่ครบถ้วน นอกจากนั้น สปสช. ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสปสช.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๖ และคู่มือการจัดหาพัสดุ รวมถึงการให้เลขที่ใบสั่งซื้อสั่งจ้างในทะเบียนคุมใบสั่งซื้อสั่งจ้างไม่ครบทุกรายการ

๒.๒ การคัดเลือกผู้ขาย/ผู้รับจ้างในการจัดหาโดยวิธีเปรียบเทียบราคาด้วยการเปิดประมูลทั่วไปไม่เป็นไปตามระเบียบที่กําหนด จากการตรวจสอบพบว่า สปสช. ไม่ได้พิจารณาคัดเลือกพัสดุหรืองานจ้างของผู้เสนอราคาที่ตรวจสอบแล้วมีคุณภาพและคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในขั้นตอนการยื่นซองเสนอราคา แต่พิจารณาคัดเลือกตามเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ปรากฏในประกาศการจัดหาพัสดุโดยวิธีเปรียบเทียบราคา ซึ่งขั้นตอนการต่อรองราคาที่ สปสช. กําหนดขึ้นเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาคัดเลือกคู่สัญญาดําเนินการจัดหาพัสดุนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในข้อบังคับสปสช.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๔๖ และประกาศสปสช.เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๗ แต่อย่างใด

ทําให้บางกรณีผู้ยื่นซองเสนอราคาต่ําสุดในชั้นต้นไม่ได้รับเลือกให้เป็นคู่สัญญา ซึ่งขัดกับหลักการต่อรองราคาตามระเบียบพัสดุที่มุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้เสนอราคา ตลอดจนไม่สามารถยืนยันได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการพิจารณาผลในกระบวนการต่อรองราคานั้นมีความโปร่งใสและเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร

ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การบริหารพัสดุของ สปสช.มีความถูกต้องเหมาะสม สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสปสช.พิจารณาดําเนินการ ดังนี้

๒.๑  ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องการจัดทําแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยเคร่งครัดโดยเฉพาะการจัดทําแผนการปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างส่งให้สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินภายในระยะเวลาที่กําหนด และแผนการจัดซื้อจัดจ้างต้องจัดทํารายละเอียดรายการให้ครบถ้วน ทั้งกรณีทําเป็นสัญญาและใบสั่งซื้อสั่งจ้าง

๒.๒  สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามข้อบังคับสปสช.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๖ ข้อ ๘ และคู่มือการจัดหาพัสดุข้อ (๑) (ค) อย่างเคร่งครัด

๒.๓  สั่งการให้เจ้าหน้าที่ให้เลขที่ใบสั่งซื้อหรือจ้างที่ทําด้วยมือให้ครบถ้วนโดยจัดเรียงไปตามลําดับก่อนหลัง โดยไม่ว่างหมายเลขไว้

๒.๔  แก้ไขระเบียบการจัดหาพัสดุของ สปสช. ให้สอดคล้องกับระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะหลักการและวิธีการจัดหาพัสดุ และหากเนื้อความในประกาศการจัดหาพัสดุใดจําเป็นต้องมีข้อความหรือรายการแตกต่างไปจากที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) กําหนดหรือแบบที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสํานักงานอัยการสูงสุดแล้วโดยข้อความดังกล่าวมีสาระสําคัญตามที่กําหนดไว้ในตัวอย่างหรือแบบของ กวพ. และไม่ทําให้ทางราชการเสียเปรียบให้สามารถกระทําได้ เว้นแต่พิจารณาแล้วเห็นว่าจะมีปัญหาในทางเสียเปรียบหรือไม่รัดกุมพอให้ส่งร่างประกาศการจัดหาพัสดุไปให้สํานักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อน

ข้อตรวจพบที่ ๓  การนําเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมโดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้เป็นเงินสวัสดิการเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

ในปีงบประมาณ ๒๕๕๑ และ ๒๕๕๒ สปสช. ได้จัดทําโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากองค์การเภสัชกรรมเป็นจํานวนเงิน ๑๖๕,๕๖๔,๗๔๐.๐๐ บาท เงินจํานวนดังกล่าว สปสช. ได้รับเป็นเงินบริจาคเข้ากองทุนสวัสดิการตามระเบียบ สปสช. ว่าด้วยการจัดสวัสดิการของสํานักงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ และ สปสช. ได้เบิกจ่ายเงินจากกองทุนสวัสดิการไปจัดสวัสดิการในหลาย ๆ ด้าน เช่น การจัดทําโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศ การจ่ายเพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ทําคุณประโยชน์แก่ สปสช. และการจ่ายเพื่อประโยชน์แก่การสนับสนุนการปฏิบัติงาน เพียงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ มีการเบิกจ่ายเป็นเงิน ๙๐,๔๓๕,๑๕๑.๘๒ บาท ทําให้ สปสช. มีเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐคงเหลือในกองทุนสวัสดิการ จํานวน ๗๕,๑๒๙,๕๘๘.๑๘ บาท การใช้จ่ายเงินดังกล่าวเพื่อสวัสดิการ ไม่เหมาะสมเนื่องจากงบประมาณในการจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมเป็นเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้บริการประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดําเนินการ กําหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่ได้รับจากองค์การเภสัชกรรมให้เป็นการนําไปใช้เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อหน่วยบริการ และกรณีเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่ได้จากองค์การเภสัชกรรมมาแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ดําเนินการให้สปสช. ปรับเป็นการดําเนินการโครงการที่ให้ประโยชน์กับหน่วยบริการโดยตรง

ข้อตรวจพบที่ ๔  การจัดส่วนงานและการกําหนดตําแหน่งงานไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕

จากการตรวจสอบการออกประกาศสปสช. เรื่องการจัดส่วนงานและการกําหนดตําแหน่งงาน พบว่าบางประกาศไม่ถูกต้อง กล่าวคือ การออกประกาศแบ่งส่วนงานฉบับแรกซึ่งประกาศ ณ วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๖ เป็นฉบับเดียวที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่การออกประกาศแบ่งส่วนงานและการปรับปรุงการแบ่งส่วนงานภายหลังการออกประกาศฉบับแรก นั้นไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การดําเนินการของสปสช.เป็นไปโดยถูกต้องสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาสั่งการให้เลขาธิการสปสช.นําเสนอการจัดแบ่งส่วนงานและการกําหนดตําแหน่งงานของสปสช.ที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อคณะกรรมการก่อนการประกาศใช้

ข้อตรวจพบที่ ๕  ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกําหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติ

เฉพาะตําแหน่ง (Job Specification)

จากการตรวจสอบการบริหารทรัพยากรบุคคลของ สปสช. พบว่าค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๙ ถึง ๒๕๕๒ สูงกว่าเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกําหนด โดยไม่ได้เสนอไปยัง ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่งงานด้านคุณวุฒิการศึกษาของเจ้าหน้าที่ ในสํานักนโยบายและแผน สํานักบริหารสารสนเทศการประกัน และสํานักงานสาขาเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้นจํานวน ๑๑๑ อัตรา พบว่าการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่ง ทั้งหมด ๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๘.๑๑ ของจํานวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมด

ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลของสปสช.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสปสช.พิจารณาดําเนินการ ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๗ และวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เกี่ยวกับการกําหนดกรอบวงเงินรวมสําหรับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร  และให้มีการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ให้ตรงตามที่กําหนดไว้ในคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่งงาน (Job Specification) อย่างเคร่งครัด

ข้อตรวจพบที่ ๖  การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กําหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕

จากการตรวจสอบการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ ๒๕๕๒ พบว่าเลขาธิการได้อนุมัติให้นําเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวสําหรับบริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจํานวน ๙๕,๓๒๕,๐๐๐.๐๐ บาท ไปจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการเพื่อการดําเนินงานที่นอกเหนือจากบริการสาธารณสุข ซึ่งการนําเงินกองทุนไปใช้จ่ายไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ มีผลกระทบทําให้หน่วยบริการไม่ได้รับงบประมาณเพื่อการดําเนินงานตามที่ควรจะเป็น

ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

๑.  ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเงินกองทุน

๒. ให้เลขาธิการกํากับดูแลสํานักงานหลักประกันสุขภาพสาขาเขตพื้นที่ปฏิบัติตามคู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของแต่ละปีงบประมาณอย่างเคร่งครัด

ข้อตรวจพบที่ ๗  การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรายการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่เป็นไปตามที่คู่มือกําหนด

จากการตรวจสอบการจัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสําหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัด (P&P Expressed demand services) พบว่า สปสช. จัดสรรงบดังกล่าวแก่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ซึ่งคู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกําหนดให้เป็นการจัดสรรในลักษณะเหมาจ่ายรายหัวให้แก่หน่วยบริการ ทําให้หน่วยบริการได้รับงบประมาณน้อยกว่าที่ควรได้รับ

ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การบริหารงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสปสช.เป็นไปอย่างถูกต้อง สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสปสช.กํากับดูแลสปสช.สาขาพื้นที่พิจารณาอนุมัติโครงการ/กิจกรรมด้วยความรอบคอบและเป็นไปตามแนวทางที่คู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกําหนด

http://goo.gl/r916a

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น