วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ชำแหละคำพิพากษา ‘จินตนา’ กก.สิทธิ์ฯถามศาล คดีชาวบ้านสู้เพื่อชุมชน ตีความคำนึงถึงรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ชำแหละคำพิพากษา 'จินตนา' กก.สิทธิ์ฯถามศาล คดีชาวบ้านสู้เพื่อชุมชน ตีความคำนึงถึงรัฐธรรมนูญหรือไม่

กก.สิทธิ์เปิดเวทีชำแหละคดี "จินตนา แก้วขาว" สมควรถูกจำคุกหรือไม่ ทั้งที่เป็นการต่อสู้เพื่อชุมชน เหมือนกับชาวบ้านอีกหลายกรณี ควรตีความอิงรัฐธรรมนูญประกอบการพิจารณา ด้านจินตนาโวยวันเกิดเหตุเจอคนร้ายยิงบ้าน รู้ว่าฝีมือใครแจ้งตร.แต่เรื่องกลับเงียบ

โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ

10 กว่าปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ เพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการของรัฐหรือเอกชนที่ผุดขึ้นมากมายและคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ หากมองปรากฏการณ์นี้ผ่านกรอบของประชาธิปไตยก็มีประเด็นให้ครุ่นคิดต่อ 2 ประการคือ อาจมองได้ทั้งข่าวร้ายและข่าวดี

ฟังข่าวร้ายก่อน-เราพอจะตั้งข้อสมมติฐานได้หรือไม่ว่า จนแล้วจนรอดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อแผนการพัฒนาต่างๆ ซึ่งผูกโยงกับสิทธิชุมชนในการปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมในท้องถิ่นยังคงเป็นเพียงถ้อยคำงดงามที่สงบนิ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 66-67 มากกว่าจะออกมาโลดเต้นอย่างมีชีวิตชีวา หรือปฏิบัติได้จริง

ข่าวดี-ปรากฏการณ์นี้กำลังบ่งชี้ได้หรือไม่ว่า ชาวบ้านมีความเข้าใจและตระหนักรู้ต่อสิทธิของตนมากขึ้น ทั้งได้เรียนรู้ เก็บเกี่ยว สั่งสม และประสานเครือข่ายร่วมกันเพื่อรักษาสิทธิของตน สมกับที่อุดมคติของระบอบประชาธิปไตยเรียกร้องจากประชาชน

5-6 ปีที่ความขัดแย้งทางการเมืองคุคั่งในสังคมไทย มีสาเหตุอันซับซ้อนเกินกว่าจะหาชุดคำตอบสำเร็จรูป แต่สาเหตุประการหนึ่งที่ถูกเอ่ยถึง คือระบบการเมืองที่ไม่สามารถปรับตัวรองรับพลวัตของสังคมการเมืองไทยได้ ขณะที่อีกกลไกหนึ่งที่เผชิญความท้าทายไม่แพ้กันคือ กระบวนการยุติธรรม

การเคลื่อนไหวของชาวบ้านนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คู่ขัดแย้งหลักยังคงเป็นชาวบ้านกับรัฐและเอกชน ทว่า ตัวบทกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความกังขาแก่ชาวบ้านเรื่อยมา บางครั้งถึงขั้นเป็นปราการขวางกั้นการใช้สิทธิ

กล่าวอย่างยุติธรรมต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งหลายกรณี กระบวนการยุติธรรมก็มีส่วนช่วยคลี่คลายปัญหาให้แก่ชาวบ้านเช่นกัน แล้วประเด็นนี้ก็ถูกตอกย้ำความกังขาอีกครั้งในวันที่ 11 ต.ค.2554 ที่ผ่านมา เมื่อศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนางจินตนา แก้วขาว แกนนำคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าบ้านกรูด เป็นเวลา 4 เดือน ด้วยข้อหาบุกรุกเข้าไปในที่ดินของบริษัท ยูเนียน เพาเวอร์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และร่วมกันขว้างปาและเทของเน่าเสียลงบนโต๊ะอาหารในงานเลี้ยงครบรอบ 3 ปีของโครงการ เมื่อปี 2544 อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข

คำพิพากษาครั้งนี้สร้างข้อถกเถียงต่อเนื่องตามมา และหลังจากนางจินตนาได้รับพระราชทานอภัยโทษ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2554 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็เปิดเวทีเรื่อง "กระบวนการยุติธรรมกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน" ขึ้น ในวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยเชิญนางจินตนาและชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆ รวมถึงนักวิชาการ นักกฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างข้อถกเถียงแลกเปลี่ยนและข้อเสนอที่แหลมคมน่าสนใจ

เส้นทางของสิทธิชุมชน

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเอ่ยถึงเนื้อหาจากวงประชุม การทำความเข้าใจความเป็นมาต่อประเด็นสิทธิชุมชน การเคลื่อนไหวของชาวบ้าน กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม น่าจะช่วยให้เข้าใจบริบทปัจจุบันได้พอสมควร

ก่อนการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2540 การเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการรัฐขนาดใหญ่ของชาวบ้านเต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งจากสังคมเองที่ยังขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิ แนวคิดการพัฒนาประเทศที่ยังถูกครอบงำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความเป็นนิกส์ (Newly Industrialized Countries: NICs) หรือประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมเป็นอันดับรองลงไป

ขณะเดียวกัน ณ ห้วงเวลานั้น สิทธิชุมชนหรือสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติยังเป็นเพียงแนวคิดที่ถูกชูขึ้นโดยนักวิชาการ เอ็นจีโอ และชาวบ้านจำนวนไม่มาก ไม่ต้องเอ่ยถึงกฎหมายที่ยังไม่พื้นที่ให้เรื่องเหล่านี้

ช่วงปี 2535 เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวเรื่องป่าชุมชนของชาวบ้านภาคเหนือ สมัชชาเกษตรรายย่อยภาคอีสาน มาถึงสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน เขื่อนราศีไศล คือจุดเริ่มที่ทำให้มีการจุดประเด็นสิทธิชุมชนออกไปสู่วงกว้าง ส่งผลสะเทือน กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องบรรจุสิทธิชุมชนลงไปเป็นหมวดหนึ่ง ผลพวงที่ตามมาอย่างน่าสนใจคือ เกิดปรากฏการณ์ชาวบ้านอ้างสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เข้าคัดง้างกับโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำ '...ตามที่กฎหมายกำหนด'ในรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับกลายเป็นเงื่อนตายที่แก้ไม่ออก เช่น กรณีป่าชุมชน ชาวบ้านพยายามใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อไม่มีกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่ากำหนดไว้ กฎหมายแม่อย่างรัฐธรรมนูญก็ใช้ได้มากที่สุด เพียงแค่การขึ้นปราศรัยบนเวทีปลุกใจชาวบ้านด้วยกันเท่านั้น กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2550 '...ตามที่กฎหมายกำหนด'จึงถูกตัดออกไป

การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของชาวบ้าน ทวีความแหลมคมขึ้นจากกรณีชาวบ้านมาบตาพุด ฟ้องศาลปกครองจังหวัดระยอง กระทั่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2552 ให้ประกาศพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซ้ำด้วยดาบสองในวันที่ 2 ธ.ค.2552 เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว 76 โครงการ ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งของการต่อสู้ภาคประชาชนที่สร้างผลสะเทือนในปริมณฑลที่กว้างขวาง

ที่ผ่านมากฎหมายมีการปรับปรุงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ทางสังคม แต่ทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่า ปัญหาการใช้สิทธิของชาวบ้านจบสิ้นตามไปด้วย เพราะดูประหนึ่งว่า กระบวนการยุติธรรมยังคงถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะผู้ใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นศาล อัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่ามีความเข้าใจและคำนึงถึงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงใด

ใช้กฎหมายสกัดชาวบ้านเคลื่อนไหว

บ่อยครั้งที่กระบวนการยุติธรรมกลับถูกชาวบ้านมองว่า เป็นกลไกขัดขวางการใช้สิทธิ กรณีนางจินตนาเป็นตัวอย่างที่ถูกหยิบยกเป็นประเด็นตั้งต้นของเวที "กระบวนการยุติธรรมกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน" ประเด็นที่นางจินตนา นักกฎหมาย และ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งคำถามคือ เนื่องจากธรรมชาติของคดีนี้มิใช่การกระทำความผิดอย่างคดีอาญาสามัญเหตุใดศาลฎีกาจึงไม่นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณา แต่กลับกล่าวว่า "ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย" ทั้งที่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นมีการอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 44 และ 46 ที่กล่าวถึงสิทธิในการชุมนุมและสิทธิชุมชนว่า (ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา วันที่ 30 กันยายน 2546)

"...ซึ่งบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย ในรูปแบบที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง มากกว่ารัฐธรรมนูญในอดีต คดีนี้เกี่ยวข้องกับความมุ่งหมายดังกล่าว จึงต้องพิจารณาพยานหลักฐานด้วยความละเอียดอ่อนมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือคนดีถูกรังแกโดยกลไกทางกฎหมาย"

ยิงบ้านชาวบ้าน-ตร.จับมือปืนไม่ได้

นางจินตนากล่าวบนเวทีว่า ในวันที่เกิดเหตุการณ์ล้มโต๊ะจีน ที่บ้านของนางจินตนาก็ถูกกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ แต่กลับไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ แม้ว่าเธอจะบอกเบาะแสะแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ก็ตาม

"ระหว่างฎีกา ปี 2552 ป.ป.ช. ชี้มูลว่าที่ดินแปลงนี้มีการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินสาธารณะจริง และให้กรมที่ดินเพิกถอนที่ดินและให้เอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ เราคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคดีเรา เพราะอย่างน้อยการหยุดโรงไฟฟ้ามันหยุดค่าโง่ที่คนทั้งประเทศจะต้องเสีย แต่พอคำพากษาศาลฎีกาออกมาแบบนี้ เราก็เลยแปลกใจว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทให้ประชาชนมีสิทธิในการปกป้องชุมชน แต่กลับถูกบอกว่าไม่ใช่สาระ แล้วที่ศาลบอกว่าโจทก์และพยานโจทก์ให้การสับสนวกวนไปบ้าง เชื่อว่าเหตุการณ์น่าจะนานมาแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเชื่อตามชั้นสอบสวน ซึ่งเป็นตอนที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เราก็งงว่า จริงๆ ต้องไปที่อัยการหรือไม่ ตกลงเราจะเชื่อตามชั้นสอบสวนหรือจะเชื่อตามชั้นพิจารณา"

นางจินตนายังตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลถูกพิพากษาจำคุก ศาลกลับให้รอลงอาญา แต่ชาวบ้านที่หยุดค่าโง่ ปกป้องปะการัง จึงต้องเข้าคุก

                                               นอกจากกรณีของนางจินตนาแล้ว การประชุมครั้งนี้ยังมีตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหา เช่น กรณีการก่อสร้างโรงโม่หินภูผายา อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู กรณีที่ดินลำพูน หรือกรณีโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี เป็นต้น ตัวอย่างนายสุแก้ว ฟุงฟู จากเครือข่ายที่ดินลำพูน ถูกฟ้องถึง 43 คดี ณ ปัจจุบัน เหลือเพียง 2 คดี ซึ่งอยู่ในระหว่างฎีกา

นายสุแก้วกล่าวว่า "ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาวบ้านจะเป็นปัญหา การเข้าไปปฏิรูปที่ดินของคนที่ไม่มีที่ทำกิน เราก็เข้าไปปฏิรูปที่ดินของตัวเอง ของปู่ย่าตายาย ที่นายทุนเอาไปออกเอกสารสิทธิแล้วเอาไปจำนองธนาคารไว้"

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่ง ที่ที่ประชุมหยิบยกขึ้นมาอภิปราย และมองไปในทิศทางเดียวกันว่า กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหยุดยั้ง หรือสร้างภาระต่อการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ซึ่งบางคดีหากพิจารณาจากมูลเหตุจูงใจก็ชวนตั้งข้อสังเกตว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ เช่น กรณีโรงถลุงเหล็กบางสะพาน ที่ชาวบ้านเข้าไปเก็บขี้เหล็กปริมาณ 25 บาทเพื่อนำไปตรวจสอบ แต่กลับถูกโรงถลุงเหล็กแจ้งความในข้อหาลักทรัพย์ เป็นต้น

ถามศาล-คำนึงถึงรัฐธรรมนูญเพียงพอหรือไม่

คำถามในที่ประชุมจึงมุ่งไปที่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีภาระผูกพันต้องตีความกฎหมายทั้งปวงให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้น ถึงที่สุดแล้วได้กระทำอย่างเพียงพอหรือไม่

ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์คำพิพากษาคดีนางจิตนาไว้อย่างน่าสนใจว่า การรับฟังพยานหลักฐานในคำพิพากษาศาลฎีกา ไม่สามารถอธิบายได้จะแจ้ง ทั้งที่การพิจารณาคดีตามกฎหมายพิจารณาความจะต้องหยิบยกเอาข้อโต้แย้งต่างๆ มาว่ากล่าวเสียให้สิ้นกระแสความ

                                    ไม่สำคัญเท่ากับการตัดข้อต่อสู้ของจำเลยในคดีนี้ที่ต่อสู้ว่า มูลเหตุจูงใจที่เข้าไปในสถานที่ที่ถูกกล่าวอ้างว่าบุกรุกนั้น เป็นการเข้าไปเพื่อใช้สิทธิ ซึ่งตรงนี้ศาลอาจจะฟังได้ในที่สุดว่า คุณตั้งใจมาตั้งแต่แรกแล้วว่าจะเอาน้ำปลาวาฬไปวางบนโต๊ะ ก็เป็นการใช้สิทธิเกินไป ศาลก็ต้องว่าอย่างนี้ แต่การบอกว่าไม่ใช่สาระสำคัญ โดยความเห็นของผมและด้วยความเคารพต่อศาล ศาลไม่ได้คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามที่ศาลผูกพันตามรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอ ซึ่งจำเป็นที่ศาลจะต้องหยิบยกประเด็นนี้มาว่ากล่าว

ประเด็นต่อมา การที่จำเลยหยิบยกสิทธิตามรัฐธรรมนูญขึ้นกล่าว อ้างว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ชี้ว่า คดีแบบนี้มีเหตุต้องวิเคราะห์เสียก่อนว่า การกระทำผิดอาญาตามตัวบทที่เป็นไป เพื่อปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ในขอบเขตแค่ไหน ซึ่งตรงนี้การปรับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงข้อผูกพันตามรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอ ทั้งหลักในการตีความกฎหมายอาญาและกฎหมายทั้งปวงจะต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

"จากคำพิพากษาของศาลซึ่งเขียนสั้นๆ พอจะเห็นได้หรือยังว่า ได้คำนึงถึงภาระผูกพันตามรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอ ถ้ายังไม่เพียงพอก็ต้องบอกตรงๆ ว่าไม่เพียงพอ" ดร.กิตติศักดิ์กล่าว

ดร.กิตติศักดิ์กล่าวว่า กรณีเช่นนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาและส่งความเห็นแก่ศาลฎีกาว่า ทางศาลยังไม่คำนึงถึงการพิจารณาอย่างเป็นธรรมตามหลักยุติธรรมอย่างพอเพียง ซึ่งไม่ใช่เป็นการฝ่าฝืนวิธีพิจารณาความเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญด้วย

                                           เมื่อไม่เพียงพอก็ต้องหาทางเยียวยา จะเยียวยาอย่างไรก็ต้องมาให้การกับกรรมการสิทธิฯ ซึ่งต้องฟังศาลก่อนว่า มีอะไรจะชี้แจงหรือไม่ หากไม่มีข้อยุติก็ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตรงนี้จะเป็นการท้าทายคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งยังไม่เคยปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์ของกฎหมายไทย

ดังที่เห็นว่าการละเลยที่จะวางรากฐานและแนวทางการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญของกระบวนการยุติธรรม หาได้มีผลต่อคดีของนางจินตนาเพียงคดีเดียวไม่ ซึ่งหากทุกอย่างยังคงดำเนินไปทำนองนี้ และยิ่งรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีทิศทางนโยบายมุ่งการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ อนาคตย่อมเลี่ยงไม่พ้นความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลาย หากกระบวนการยุติธรรมไม่เร่งปฏิรูปและสร้างคำตอบให้สังคม

ปรากฏในหน้าแรกที่: 
ข่าวเจาะพาดหัว (สไลด์โชว์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น