วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เยือน "เวทีวิชาการชาวบ้าน" ที่ "นาบัว" ชุมชนแห่งนี้เข้มแข็งไม่ใช่น้อย (ตอนจบ)

เยือน "เวทีวิชาการชาวบ้าน" ที่ "นาบัว" ชุมชนแห่งนี้เข้มแข็งไม่ใช่น้อย (ตอนจบ)

วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 08:00:59 น.

Share




เรื่อง / ภาพ : ทิพาภรณ์ สุคติพันธ์

 

 

หลังจากที่ มติชนออนไลน์ ได้นำเที่ยวศูนย์การเรียนรู้ ตำบลนาบัว ไปในตอนที่แล้ว


วันนี้ มติชนออนไลน์ จะพาคุณผู้อ่านไปงาน "เวทีวิชาการชาวบ้านครั้งที่ 15"ที่บ้านน้ำแจ้งพัฒนา หรือ "บ้านภูขัดกัน"


แต่ก่อนที่จะไปดูงานเวทีวิชาการชาวบ้าน เรามารู้จักกับ "ชาวภูขัด" กันก่อนดีกว่า

จากคำบอกเล่าของหัวหน้าเผ่าชาวภูขัดนั้น...


แต่เดิมชาวม้งที่อาศัยอยู่แถบนี้ อาศัยอยู่บริเวณเขาค้อและบริเวณภูหินร่องกล้ามาก่อน ชาวม้งเหล่านี้ยังเป็นหนึ่งในกองกำลังของ "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" (พคท.) ก่อนที่พคท. จะให้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ภูขัดนี้


ถึงแม้ว่าตอนนี้ เหตุการณ์การสู้รบจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ชาวม้งบ้านภูขัดก็ยังอาศัยทำกินอยู่ที่นี่

 

 

บ้านชาวภูขัด

 

วิวจากยอดภูขัด


หมู่บ้านนี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้


คงมีแต่เพียงแผงโซลาเซลล์แผ่นเล็กๆ ที่ใช้ในการเก็บแสงแดดจากตอนกลางวัน ผลิตเป็นไฟฟ้าใช้หุงหาอาหารในชีวิตประจำวัน


แต่ถ้าเป็นฤดูฝนที่แดดไม่ค่อยออก ชาวภูขัดก็จะไม่ค่อยมีไฟฟ้าใช้


เมื่อมีคนถามผู้ใหญ่บ้านว่า ต้องการอะไรมากที่สุดสำหรับหมู่บ้าน
ผู้ใหญ่บ้านตอบอย่างไม่ลังเลว่า ต้องการ "ถนน" ขึ้นสู่หมู่บ้าน
เพราะเมื่อถนนดีแล้ว สิ่งดีๆก็จะต้องตามมาอย่างแน่นอน


"ถนน" คือ หนทางสู่ความทันสมัยจริงๆ!!

 

 

ถนนสายหลักในหมู่บ้าน


---


สำหรับงาน "เวทีวิชาการชาวบ้าน" ครั้งนี้ จัดขึ้นที่ลานโล่งริมเชิงเขาของหมู่บ้าน โดยมีชาวบ้านทุกหมู่บ้านในตำบลนาบัวเข้าร่วมงาน


ชาวภูขัดจึงต้องจัดงานครั้งนี้ให้ดีที่สุด


งานเริ่มต้นตั้งแต่เช้า


เด็กๆและชาวบ้านชาวม้ง ต่างพากันแต่งตัวด้วยชุดชาวเขาสวยงาม

 

มีคนบอกมาว่า ยิ่งชุดใครประดับเงินมากเท่าไร คนนั้นก็ยิ่งรวยตามเงินประดับมากเท่านั้น


อืม... เป็นเครื่องประดับบอกฐานะนี่เอง


ชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆทยอยกันเดินทางมาร่วมงาน โดยขึ้นมายังภูขัดด้วย "รถเปิดประทุน" จน "ตัวแดง ผมแดง" กันเป็นขบวน


งานเวทีวิชาการชาวบ้าน เปิดงานด้วยการร้องเพลง ที่ร้องเป็นเพลงภาษาชาวเขา


เมื่อขอให้ผู้ร้องช่วยแปลความหมายของเนื้อเพลง ก็ได้คำตอบว่า เพลงนี้ชื่อเพลง "อย่าติดยาเลยนะพ่อจ๋า"


เนื้อหาของเพลงพูดถึงคนที่ติดยาว่า "อย่าไปติดมันเลย เมื่อติดแล้วไม่ดี เสียเงินเสียทอง ไม่มีใครอยากคบ ไม่มีใครรัก" 
เนื้อเพลงนี้แม้จะสื่อถึงพ่อ แต่ความหมายของเพลงสามารถสื่อไปได้ถึงทุกๆ


ต่อด้วย การเป่าแคนต้อนรับจากผู้ใหญ่บ้าน


โดยผู้ใหญ่บ้าน ธีระพงษ์ แซ่วื่อ อธิบายว่าเพลงที่เป่านั้น "เป็นเพลงที่แต่งถึงในหลวง ว่าพวกเราชาวม้งล้วนแต่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่พวกเราทุกคนในตอนนี้อยู่ดีกินดี มีถิ่นฐานทำกิน ชีวิตไม่ลำบากก็เป็นเพราะพระองค์ท่าน พวกเราก็อยากจะขออวยพรให้พระองค์มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน"

 

 

การแสดง


จากนั้นก็เป็นการแสดงระบำชาวเขาจากเด็กๆชาวม้งหลากหลายชุด เป็นที่น่ารักสนุกสนาน


ก่อนจะมีการกล่าวปฏิญาณ "ปีแห่งการอนุรักษ์สัตว์ป่า ถวายในหลวงวาระ 84 พรรษา" จากชาวบ้านทุกคนในตำบลนาบัว


โดยในทุกๆปี หมู่บ้านที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน จะกำหนดวาระสำคัญขึ้นมา 1 วาระเพื่อให้ทุกคนในตำบลได้ประกาศตนและปฏิบัติตาม


วิธีการการคัดเลือกของวาระที่จะประกาศนั้น จะเป็นการดึงเรื่องเด่นๆออกมาปฏิญาณตนกัน


โดยที่ปีนี้ ชาวบ้านน้ำแจ้งพัฒนาได้ประกาศวาระอนุรักษ์สัตว์ป่า เนื่องจากพื้นที่อาศัยของชาวภูขัดเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์และเป็นแหล่งต้นน้ำ อีกทั้งวันที่ 26 ธันวาคมของทุกปียังเป็น "วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ" อีกด้วย

 

 

ร่วมกล่าวปฏิญาณตน


เมื่อจบการกล่าวปฏิญาณก็ถึงเวลานำเสนอผลงานจากแต่ละหมู่บ้าน


โดยเริ่มจากหมู่บ้านเจ้าภาพเป็นหมู่บ้านแรก ต่อด้วยหมู่บ้านที่เป็นเจ้าภาพครั้งแรก ไล่ลงมาเรื่อยๆจนถึงเจ้าภาพปีที่ผ่านมา


ผู้ที่จะมานำเสนอผลงานได้นั้น ต้องเป็นคนที่ทำงานจริงๆ และต้องได้รับเลือกจากผู้ที่เกี่ยวข้องในหมู่บ้าน

 

และที่สำคัญ ผู้นำเสนอจะต้องไม่ใช่คนที่เคยขึ้นนำเสนอมาก่อน หากใครนำเสนอผลงานซ้ำจะถูกผู้ชมโห่ไล่ลงทันที


สาเหตุก็เพราะต้องการให้เกิดการสร้างผู้นำใหม่ๆขึ้นมาภายในชุมชนนั่นเอง


เวลาในการนำเสนอจะถูกจำกัดไว้ที่หมู่บ้านละ 10 นาที หากหมู่บ้านใดนำเสนอเกินเวลาจะถูกปรับหมู่บ้านละ 500 บาท จึงทำให้ผู้ฟังรอลุ้นว่าจะได้ยินเสียงสัญญาณเกินเวลาหรือไม่


ถ้าหมู่บ้านไหนเกินเวลา มีเสียงคนตีจานสังกะสีขึ้นมา ก็จะมีเสียงเฮดังลั่นขึ้นมาจากหมู่ผู้ชม


การนำเสนอนั้นจะมีทั้งการนำเสนอผลงานและโครงการต่างๆในแต่ละรอบปีของแต่ละหมู่บ้าน รวมถึงนำเสนอปัญหาภายในหมู่บ้านที่ต้องการการดูแล แก้ไข โดยมีผู้หลักผู้ใหญ่ของจังหวัดพิษณุโลกมานั่งรับฟังอยู่ด้วย


เมื่อการนำเสนอจบลง เราก็ได้ชมการโยนลูกช่วง กีฬาพื้นบ้านของชาวม้งที่มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมเล่นเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งได้ดูการจุดบั้งไฟโชว์จากชาวบ้านนาบัว ซึ่งสนุกสนานตื่นเต้นไม่แพ้บั้งไฟแถบภาคอีสานเลย


---

 


มติชนออนไลน์ อยากรู้ว่า "เวทีวิชาการชาวบ้าน" เกิดขึ้นมาเพราะอะไร แล้วเพื่ออะไร


เราจึงขอสัมภาษณ์นายกอบต.นาบัว นายประเจตน์ หมื่นพันธ์ ซึ่งทำให้ได้คำตอบว่า


"เวทีวิชาการชาวบ้านเกิดขึ้นจากอสม.หมู่ 2 รวมตัวกัน จากไม่กี่คนในตอนแรก จนเมื่องานครั้งที่ 4 หรือ 5 ทางอบต.เข้าไปดูและเห็นว่าดี จึงสนับสนุนงบจัดงานมาเรื่อยๆ ส่วนวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ทางภาครัฐเข้ามารับรู้ความเดือดร้อนของชาวบ้าน "


เมื่อถามถึงวิธีการดำเนินการของเวทีนี้ ว่ามีลักษณะอย่างไร นายกประเจตน์ตอบว่า


"เวทีนี้ชาวบ้านร่วมกันทำ ร่วมกันคิด ทางอบต.จะมีงบประมาณให้ 2 หมื่น และอีก 14 หมู่บ้านที่เหลือก็จะช่วยกันลงขันลงแรง"


ข้อดีของเวทีวิชาการชาวบ้าน คืออะไร?
"ได้เห็นความร่วมมือของพี่น้องในหมู่บ้าน สำคัญที่สุดคือการจัดเวทีวิชาการชาวบ้านนี้จะได้เห็นว่าเป็นการแสดงความเห็นได้ทุกเรื่อง อบต.ก็จะมารับฟังปัญหาในหมู่บ้านนั้นๆ แล้วจะนำไปเข้าสู่แผนเพื่อเป็นการพัฒนาในปีต่อไป"


ก่อนที่ชาวบ้านจะนำเรื่องมาเสนอนั้น ต้องมีการประชุมกันมาก่อนหรือไม่?
"แต่ละหมู่บ้านก็จะเข้าไปประชุมกันว่าในปีนี้แต่ละหมู่บ้านมีผลงานอะไรบ้าง โดยทางอบต.จะไม่เข้าไปยุ่ง ให้ชาวบ้านประชุมกันเอง"


ปัญหาเด่นที่ทางชาวบ้านนำเสนอมามากที่สุดคือเรื่องอะไร?
ประเจตน์ตอบอย่างไม่ลังเลว่า "เรื่องน้ำ เพราะตอนนี้ทางตำบลนาบัวเดือดร้อนเรื่องน้ำ หน้าแล้งมักจะมีน้ำกินน้ำใช้ไม่พอ ทางอบต.ต้องมีรถน้ำคอยออกแจกจ่าย แต่ปัจจุบันนี้ทางอบต.กำลังทำโครงการที่จะสูบน้ำขึ้นมาเป็นประปาหอสูงไว้ใช้ในตำบล"


ทางอบต.มีการพิจารณาอย่างไรว่า ปัญหาไหนจะแก้ไขก่อนหลัง?
"ต้องดูจากความเร่งด่วนจำเป็นจริงๆ เพราะปีหนึ่งๆ อบต.มีงบไม่ถึง 20 ล้าน ส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายประจำ เหลือเงินที่จะนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจริงๆ ปีละไม่ถึง 3 ล้านบาท"


ถ้าปัญหาที่นำเสนอไปไม่มีการแก้ไขเกิดขึ้น ชาวบ้านมีวิธีเรียกร้องอย่างไร?


"ก็ต้องร้องเรียนผ่านทางสมาชิก ผ่านผู้ใหญ่บ้านถึงนายก อบต.ถ้ามีเรื่องร้องเรียนมาเยอะๆ เราก็จะนำเข้าประชุม ว่าเพราะเหตุใดจึงยังดำเนินการไม่ได้"


คิดว่าเวทีวิชาการชาวบ้านนี้ได้ผลหรือไม่?
"ผมว่าได้ผลอย่างมาก โดยเฉพาะทางอบต.ที่เป็นท้องถิ่นที่ใกล้มากที่สุด จากอดีตที่มีแค่พี่น้องหมู่ 2 ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ปัจจุบันไม่ว่าหน่วยงานไหนก็เข้ามาช่วย เข้ามาให้ความสนใจ"


ขอถามถึง มุมมองที่มีต่อเวทีวิชาการชาวบ้าน
"ผมว่า เวทียร่เป็นความร่วมมือของพี่น้องชาวนาบัว เป็นความภูมิใจของชาวนาบัวซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาแต่สามารถขึ้นมาบนเวทีแล้วพูดให้หน่วยงานต่างๆได้รับรู้ แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ นี่คือความภาคภูมิใจของเวทีนี้"

---


มาฟังความเห็นเกี่ยวกับเวทีวิชาการชาวบ้านจากผู้ใหญ่บ้านบ้านน้ำแจ้งพัฒนา นายธีระพงษ์ แซ่วื่อ กันบ้าง


ปีนี้ทางบ้านภูขัดเลือกเอาวาระที่จะตั้งขึ้นมาจากอะไร ?
"ทางเราก็จะเสนอประเด็นเฉพาะในหมู่ชาวบ้านของเรา แล้วก็ดึงเอาจุดเด่นของเรามา โดยจุดเด่นของเราคือการบริหารจัดการในเรื่องของ "ยุติธรรมชุมชน" การทำตามการปฏิญาณตนก็ถือเป็นการทำตามยุติธรรมชุมชน เพราะหากใครไม่ทำตามเราก็จะใช้หลักการนี้ในการแก้ปัญหา"


ยุติธรรมชุมชน คืออะไร ?
"คือหมู่บ้านจะไม่นำเรื่องข้อพิพาทไปสู่ระดับกฎหมายแต่แรก โดยที่หมู่บ้านจะมีผู้นำตระกูลแซ่ที่จะมาบริหารจัดการในเรื่องนี้ก่อน ผู้นำตระกูลแซ่นั้นคือผู้หลักผู้ใหญ่ ที่เป็นผู้นำในกลุ่มตระกูลแต่ละตระกูล หากแซ่ 2 แซ่ อย่างเช่น แซ่วื่อ มีปัญหากับแซ่ย่า ก็จะให้ผู้นำตระกูลแซ่ทั้ง 2 มาคุยกัน ตกลงหาข้อยุติให้แก่กัน แต่หากเมื่อคุยกันแล้วยังหาข้อยุติไม่ได้ เรื่องก็จะมาถึงที่ผมซึ่งคือผู้ใหญ่บ้าน ก็จะเรียกผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายมา และคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายมานั่่งฟัง สอบสวนเรื่องราวว่าเป็นมาอย่างไร แล้วจะมีกรรมการมาสอบสวนว่าใครถูกใครผิด จนได้ข้อสรุป แต่ถ้ายังไม่ยอมกันก็ต้องปล่อยให้ไปในทางกฎหมายจัดการ คนอาจจะมองว่านี่เป็นศาลเตี้ย แต่ส่วนมากชาวบ้านจะรับฟัง"

 

 

นายธีระพงษ์ แซ่วื่อ  ผู้ใหญ่บ้านบ้านน้ำแจ้งพัฒนา


ขอแนวคิดที่นำชุมชนของตนเข้าร่วมกับเวทีนี้ ?
"ในตอนแรกก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำเพื่ออะไร ประเด็นที่จะนำเสนอก็ยังไม่มี แต่พอเข้าไปร่วมงานก็เข้าใจและรับรู้ว่ามีระบบการจัดการ วิธีการนำเสนออย่างไร ตอนแรกก็เป็นเรื่องของอสม. แต่ตอนนี้ก็เป็นทุกภาคส่วนของตำบลที่มาร่วมนำเสนอ
แต่บางทีประเด็นการนำเสนออาจจะไม่ละเอียด เพราะจำกัดเวลาไว้ที่หมู่บ้านละ 10 นาที ทำให้บางเรื่องไม่ได้ลงรายละเอียดลึก"


มาถึงคำถามสุดท้าย การดำเนินชีวิตของชาวบ้านบนกับชาวบ้านล่างมีปัญหาหรือไม่ ?
"ผู้ใหญ่ตอบด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า ไม่เลยครับ แต่ก่อนอาจจะรู้สึกเหินห่างนิดหนึ่งเพราะในรุ่นพ่อรุ่นแม่นั้นยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารอยู่ พูดภาษาไทยไม่ได้ พอมาเด็กรุ่นหลังได้เข้าเรียนหนังสือ ก็เลยสามารถสื่อสารกันได้ แต่ก็ยังมีอยู่ในเรื่องของศาสนาที่แตกต่างกัน เพราะถึงเราจะบอกว่าเราถือพุทธ แต่เราไม่ได้เข้าวัด เพราะเรานับถือบรรพบุรุษ แต่เราก็ส่งลูกหลานไปเข้าเรียนไปทำกิจกรรมเหมือนๆคนอื่น ก็อยู่แบบเป็นพี่เป็นน้องกันครับ"

---

 

เป็นอย่างไรบ้าง กับ "เวทีวิชาการชาวบ้าน" ของชาวนาบัว


การได้ไปเห็นความร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน จนเกิดเป็นเวทีที่ทำให้เสียงเล็กๆสามารถส่งไปถึงคนใหญ่ๆในสังคมได้


นี่แหละพลังของ "ชุมชนเข้มแข็ง"

 


 
 



 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1325242487&grpid=no&catid=09&subcatid=0901 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น