วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เปิดปมขัดแย้งขุมทรัพย์แสนล้าน “ตลาดนัดสวนจตุจักร” ผลประโยชน์นี้เพื่อใคร ???

เปิดปมขัดแย้งขุมทรัพย์แสนล้าน "ตลาดนัดสวนจตุจักร" ผลประโยชน์นี้เพื่อใคร ???

วันที่ 01 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 07:09:59 น.

Share




ในที่สุดความขัดแย้งอันคุกรุ่นบนพื้นที่ผลประโยชน์ 68 ไร่ 59 ตารางวาของ"ตลาดนัดสวนจตุจักร"ระหว่างกรุงเทพมหานคร(กทม.)กับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ได้ข้อยุติในยกแรก

 

 

เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 ธันวาคม 2554 ซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้รับทราบให้"รฟท."เข้าบริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรภายหลังสิ้นสุดสัญญาเช่าพื้นที่ของ"กทม."ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ พร้อมกับให้กระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอรายละเอียดการจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร

 

 

บนเส้นทาง 25 ปีจากสนามหลวงถึงสวนจตุจักร 

 

หากย้อนกลับดูความเป็นมาของตลาดนัดสวนจตุจักร เดิมตั้งตลาดกันอยู่บริเวณท้องสนามหลวง ต่อมาในปี 2521 รัฐบาลสมัยนั้นมีนโยบายใช้สนามหลวงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และจัดงานสำคัญต่าง ๆ จึงให้จัดหาพื้นที่ใหม่ให้พ่อค้าแม่ค้า และได้มอบหน้าที่ให้"กทม."ทำหน้าที่บริหารจัดการ โดยทำสัญญาเช่าที่ดินบริเวณย่านพหลโยธินของ"รฟท."ระยะเวลา 25 ปี

 

 

 

ในยุคบุกเบิกพื้นที่บริเวณนี้มีหญ้ารกท่วมหัว แต่ปัจจุบันที่ดินมีศักยภาพสูงขึ้นมาก อยู่ในแนวรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและรถไฟฟ้าบนดิน ถนนสายหลัก ห้างสรรพสินค้า กลายเป็นขุมทรัพย์แสนล้านอยู่ในย่านธุรกิจการค้าสำคัญ ที่มีแต่คนจะรุมทึ้งยื้อแย่ง

 

 

ดังจะเห็นได้จากตัวเลขที่"รฟท."เคยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบริเวณตลาดนัดจตุจักรย่านพหลโยธินอย่างละเอียดในทุกแง่มุมเมื่อปี 2553 เพื่อศึกษาอัตราค่าเช่าใหม่ใช้เป็นข้อมูลในการต่อสัญญาครั้งใหม่ให้กทม.พบว่า ปัจจุบันราคาที่ดินอยู่ที่ 170,000 บาท/ตร.ว. และในปี 2555 ราคาที่ดินจะขยับสูงขึ้นเป็น 187,425 บาท/ตร.ว.

 

 

 

จากผลการะประเมินของบริษัทที่ปรึกษาในครั้งนั้น ตั้งอยู่ในบริบทที่"กทม."ยังมีหนี้สินค้างชำระกับ"รฟท." เบื้องต้นแยกเป็น 1.มูลค่าทรัพย์สินโดยกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ ในสภาพไม่มีภาระผูกพัน ในวันที่ 2 มกราคม 2555 (หมดสัญญากับ"กทม."แล้ว) อยู่ที่ 15,292 ล้านบาท 2.มูลค่าค่าเช่าที่มีการค้างชำระ ระยะเวลาประมาณ 11 เดือน 23 วัน      (ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2552) ซึ่ง กทม.ค้างชำระค่าเช่าที่ 1,025 ล้านบาท 3.มูลค่าค่าเช่าในระยะเวลา 30 ปี หาก กทม.ต่อสัญญาเช่าอีก (วันที่ 2 มกราคม 2555)    อยู่ที่ 13,177 ล้านบาท 

 

 

ครั้งนั้น"รฟท."มองว่า หาก"กทม."จะขอต่อสัญญาเช่าจะต้องเจรจากันใหม่บนพื้นฐานราคาที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอแนะไว้ อย่างเช่นเงินสดจ่ายทั้งก้อนในวันเซ็นสัญญา 13,177 ล้านบาท แต่หากไม่มีเงินสดจ่าย ต้องจ่ายเป็นรายปีระยะเวลา 30 ปี ซึ่งจะบวกค่าดอกเบี้ยด้วย เพื่อรฟท.จะได้มีผลตอบแทนมากขึ้น

 

 

บริษัทที่ปรึกษาเสนอมา 2 แนวทาง คือ กรณีมีค่าเซ้ง (up front) 30% ของค่าเช่ารวม อยู่ที่ 22,381 ล้านบาท โดยเป็นค่าเซ้ง 3,953 ล้านบาท ที่เหลือกระจายเป็นรายปี และหากไม่มีค่าเซ้งอยู่ที่ 26,326 ล้านบาท โดยทุกอย่างประเมินตามสภาพความเป็นจริงของตลาดในปัจจุบัน โดยยึดแนวทางของธุรกิจเป็นหลัก

 

 

โดย"รฟท."มองว่า ควรจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเหมือนกับกรณีต่อสัญญาเช่าที่ดินย่านสามเหลี่ยมพหลโยธินให้กับกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล ที่ได้รับผลตอบแทนกว่า 20,000 ล้านบาท

 

 

เผยผลประโยชน์เบื้องลึกแสนล้าน...ต่อกันอยู่ได้แค่ 420 ล้านบาท/ปี

 

 

แม้ตัวเลขที่บริษัทที่ปรึกษาเคยนำเสนอไว้มากมายมหาศาล แต่การเปิดโต๊ะเจรจาระหว่าง"รฟท."ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม  ใต้ปีก"พรรคเพื่อไทย" และกทม.ภายใต้ฝ่ายค้านพรรค"ประชาธิปัตย์" ได้เริ่มขึ้นอย่างเบาะ ๆ จากสัญญาปัจจุบันเก็บเพียงปีละ 24 ล้านบาท สัญญา 25 ปี สัญญาใหม่"รฟท."เสนอให้เช่า 20 ปี คิดค่าเช่า 420 ล้านบาท/ปี พ่วงเงื่อนไขปรับขึ้น 15% ทุก 5 ปี เฉลี่ย 3,000-3,500 บาท/แผง/เดือน จากจำนวนแผงค้าทั้งหมดประมาณ 8,875 แผง  27 โซน

 

 

 

ขณะที่"กทม."ขอเพิ่มเป็น 30 ปีในอัตราเดียวกับที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เฉลี่ย 700 บาท/ตร.ม./ปี หรือปีละ 79 ล้านบาท ปรับขึ้น 15% ทุก 5 ปี แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้

 

 

แต่จากการสำรวจตัวเลขค่าเช่าแผงจากพ่อค้าแม่ค้าตัวจริงที่ยืนขายของอยู่หน้าร้านบริเวณตลาดนัดสวนจตุจักรของผู้สื่อข่าว"มติชนออนไลน์" ณ วันทื่ 31 ธันวาคม 2554 กลับพบว่า "หาเป็นเช่นนั้นไม่"

 

 

 

เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องกลุ่มผลประโยชน์หากพิจารณาผู้เก็บผลประโยชน์ค่าเช่าในตลาดนัดสวนจตุจักรสามารถแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1."กทม." 2.เทศกิจ 3.เจ้าของแผงตัวจริงที่ทำสัญญากับ"กทม."ซึ่งคนหนึ่งมีแผงในมือมากกว่า 2 แผงขึ้นไป 4.เจ้าของแผงคนที่ 2 หรือ 3,4,...ที่มีข้อตกลงเช่ากับเจ้าของแผงตัวจริงมาเป็นทอด ๆ 

 

 

5.เงามืด...มือที่มองไม่เห็น ซึ่งเก็บผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง เนื่องเพราะเป็นทราบกันดีว่า ในสัญญาที่"กทม."ทำกับเจ้าของแผงค้า ห้ามมิให้มีการปล่อยเช่าช่วงต่อ ดังนั้น เมื่อไปถามตามแผงค้า จะทราบว่าไม่มีใครมีสัญญากับเจ้าของแผงตัวจริง มีเพียง"สัญญาใจ"ที่ให้กันไว้ ไม่ผิดกฎหมาย เรื่องนี้ลองถามเจ้าหน้าที่กทม. และเทศกิจดูได้ ท่านบอกได้ว่า ไม่เคยรับรู้ หรือทราบเรื่องเหล่านี้.....จริง ๆ ตลอด 25 ปี

 

 

สำหรับการคิดราคาค่าเช่า พื้นที่ 1 แผง ขนาดพื้นที่เพียง 5 ตารางเมตร ราคาค่าเช่าต่ำสุดเริ่มตั้งแต่ 3,500 บาทอยู่ในบริเวณตรอกซอยลึก ๆ ที่มีผู้คนเดินผ่านน้อย และขึ้นไปสูงสุดถึง 50,000 บาทในทำเลทองด้านติดถนนเส้นหลักในตลาดนัดที่มีผู้คนเดินกันมากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณโครงการ 2 และโครงการ 3 โดย"กทม."เก็บค่าเช่าจากเจ้าของแผงตัวจริงเพียง 200.50 บาทต่อแผง ค่าน้ำ-ค่าไฟต่างหาก ซึ่งส่วนนี้เจ้าของแผงตัวจริงผลักภาระให้ผู้เช่าช่วงต่อทั้งหมด

 

 

 

ที่สำคัญหากใครอยากได้แผงค้าบริเวณทำเลทองที่มีผู้คนเดินกันมากมาย มีการเสนอตัวเลขเซ้งกันหรือให้เช่าช่วงต่อกันล่าสุดก่อนที่"น้องน้ำ"จะเข้ามาเที่ยวตลาดนัดสวนจตุจักรอยู่ที่ประมาณ 2,500,000 บาทต่อแผง โดยผู้ที่เซ้งตกลงกัน 2 แผง มีขนาดเพียง 10 ตารางเมตร ก็แค่จ่ายเงินสด ๆ กันในราคา 5,000,000 บาทเอง

 

การเซ้งภายในตลาดนัดสวนจตุจักร มี 2 รูปแบบ คือ 1.การเซ้งต่อจากเจ้าของตัวจริง อาจจะเรียกว่า "เซ้งขาด" 2.การเซ้งต่อจากพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ใช่เจ้าของแผงตัวจริง เป็นการเซ้ง เพื่อซื้อสิทธิ์ให้ได้ทำเลทองขายของบริเวณนั้น เซ้งค่าตบแต่งแผง หลังจากนั้นผู้เซ้งต้องจ่ายค่าเช่าให้เจ้าของแผงตัวจริงอีกต่างหาก

 

 

นอกจากนี้ ในการเก็บผลประโยชน์ และดูแลบริเวณงานในตลาดนัดสวนจตุจักร จะมีพื้นที่ที่เทศกิจเข้ามาช่วยดูแลบริหารงานด้วยใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.หากใครมีแผงเดิมอยู่ด้านใน และต้องการต่อยื่นออกมาค่อมระหว่างทางเดินเท้ากับทางระบายน้ำ ซึ่งแต่เดิมจะเว้นไว้ให้คนได้เดินกันสะดวก แต่ปัจจุบันอนุญาตให้ทำแผงค้าถาวรขึ้นมาได้ โดยเฉพาะบริเวณทำเลทอง ก็คิดค่าเช่าอีกไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งผู้ค้าส่วนใหญ่ยอมจ่าย เพื่อขยายพื้นที่ร้านให้ยาวขึ้น การจ่ายค่าเช่าในส่วนนี้เหมือนกับแผงค้าทั่วไป คือ เก็บกันหลายทอดตั้งแต่เจ้าของแผงตัวจริง ยันมือที่ 2,3,4

 

 

 

2.ส่วนผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย รถเข็นขายน้ำที่จอดเรียงรายระเกะระกะกันอยู่ในแนวถนนเส้นหลักอย่างไม่เป็นระเบียบนักจะมีการเก็บค่าเช่าประมาณ 250-400 บาทต่อวัน

 

 

3.แผงค้าพื้นที่ประมาณ 1.5 เมตร ด้านนอกสวนจตุจักรบริเวณฟุตบาธติดกับถนนพหลโยธินเรียงรายยาวตลอดแนวจะเสียค่าเช่าประมาณ 4,000 บาท  

 

 

 

แหล่งข่าวจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้ามือที่สองที่สามที่เช่าต่อมาจากเจ้าของแผงตัวจริง บ่นให้"มติชนออนไลน์"ฟังในทำนองเดียวกันว่า ปัจจุบันพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในตลาดนัดสวนจตุจักรเกือบทั้งหมด หรืออาจจะเรียกว่าทั้งหมดไม่ใช่เจ้าของแผงตัวจริงที่ทำสัญญาเช่ากับกทม. ค่าเช่าแผงที่พ่อค้าแม่ค้าต้องจ่ายจึงถูกบวกกำไรเพิ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่พอจะรับกันได้หากไม่มากเกินไป แต่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันหลาย 10 ปี พ่อค้าแม่ค้าตัวจริงต้องถูกบวกเพิ่มค่าเช่าสูงมาก เนื่องจากแต่ละแผงค้าได้มีการเซ็งสิทธิ์เปลี่ยนเจ้าของขายต่อกันมาหลายทอดแล้ว โดยในการขายแต่ละครั้งมีการกินแป๊ะเจี๊ยหรือเงินกินเปล่าด้วย โดยบางแผงที่อยู่ในทำเลดี บริเวณหัวมุมมีการเซ็งกันราคาหลายล้านบาท ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าจำเป็นต้องผลักภาระให้ผู้บริโภคต่อเช่นกัน  ทำให้ไม่สามารถขายของราคาถูกได้ เชื่อว่า หลังจากรฟท.เข้ามาบริหาร หากมีการขึ้นค่าเช่าแผง เจ้าของตัวจริงคงผลักภาระมาให้ผู้เช่าช่วงรับภาระต่อแน่นอน

 

 

"เราฟังเรื่องที่กทม.และรฟท.ทะเลาะกันแล้วอยากหัวเราะดัง ๆ เพราะมาเถียงกันที่ค่าเช่า 1,000 กว่าบาท 3,000 กว่าบาท เพราะในความเป็นจริงพวกเราจ่ายค่าเช่ากัน 20,000 บาทขึ้นไป เรื่องนี้อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้ามาปรามหรือควบคุมราคากันหน่อย ไม่ใช่บวกกินค่าหัวคิวกันไปไม่รู้กี่ทอด ทำให้พ่อค้าแม่ค้าขายของได้เงินเท่าไหร่ก็ต้องนำไปจ่ายค่าเช่าหมด กำไรแทบไม่เหลือเพราะขายกันได้แค่ 3 วันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากราคาค่าเช่าไม่บวกมากก็พอจะรับกันได้ แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ขอให้ผู้มาบริหารจัดการจะเป็นใครก็ตามกทม.หรือรฟท. ขอให้ทำอย่างไรก็ได้ให้คนมาเดินซื้อสินค้ากระจายกันอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ขายของกันได้ดีเฉพาะแผงที่อยู่เส้นถนนหลัก ส่วนตลาดนัดด้านในตามตรอก ซอกซอยคนเดินน้อยมาก

 

 

นอกจากนี้ เรื่องการจัดการระเบียบพวกแผงหาบเร่รายย่อยที่วางกันไร้ระเบียบ และมาแย่งค้าตัดราคา เพราะมีค่าเช่าที่ถูกกว่า รวมถึงเรื่องความสะอาด"แหล่งข่าวจากพ่อค้าแแม่ค้าหลายรายกล่าว

 

 

ปัจจุบันตลาดนัดจตุจักรถือเป็นขุมทรัพย์แสนล้านของทุกหน่วยงาน ทุกผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง รายได้มหาศาลจำนวนนี้ตามกฏของกทม.ให้อำนาจผู้ว่าราชการกทม.มีสิทธินำเงินไปใช้ในการบริหารงานอื่น ๆ ได้ทันทีหากไม่เกิน 10 ล้านบาท ดังนั้น ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นผู้ว่าราชการกทม.หรือผู้บริหารกทม.มักจะแต่งตั้งคนของตนเองที่ไว้ใจได้เข้ามาบริหาร เพื่อกุมผลประโยชน์อันมหาศาลนี้ไว้

 

 

บทสรุปสุดท้ายการเปลี่ยนมือบริหารตลาดนัดสวนจตุจักรจาก"กทม."มายัง"รฟท." คงเป็นเรื่องที่หลายคนต้องช่วยจ้องกันอย่ากระพริบตา เนื่องด้วยหน่วยงาน"รฟท."อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงต้นหูกวางที่เลื่องลือได้ชื่อว่า "กระทรวงเกรด A" ที่พรรคการเมืองทุกยุคทุกสมัยหมายปอง เพราะความหอมหวานของผลประโยชน์อันมหาศาลของหน่วยงานในสังกัด

 

ที่สำคัญหมากเกมนี้ระหว่าง"กทม." และ"รฟท."คิดว่าไม่น่าจะจบเพียงแค่นี้ แต่ปี่กลองยก 2 จะเริ่มต้นเมื่อไหร่  ปีหน้าฟ้าใหม่ 2555 นับถอยหลังอีกไม่กี่ชั่วโมง...5,4,...3,2,1..คงได้รู้กัน
 

 


 


 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น