วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สุเหร่ามุสลิม วิถีไทยหลากหลาย -- จากนสพ. ข่าวสด


 
จาก: Ms. Jarunee <jarunee@siam-society.org>
วันที่: 8 ธันวาคม 2554, 16:48
หัวเรื่อง: สุเหร่ามุสลิม วิถีไทยหลากหลาย -- จากนสพ. ข่าวสด
ถึง:  

 

   [Home] หน้าแรก-ข่าวสด
 
จำนวนคนอ่านล่าสุด 697 คน

Share22

วันที่ 04 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7675 ข่าวสดรายวัน


สุเหร่ามุสลิม วิถีไทยหลากหลาย 


วิภาวี จุฬามณี



ในประชากรกว่า 65 ล้านคนของประเทศไทย มีผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่ด้วยราว 3 ล้านคน แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งการันตีว่า สังคมไทย "รู้จัก" และ "เข้าใจ" วัฒนธรรมของชาวมุสลิมดีพอ 

เพราะแม้กระทั่งเรื่องใกล้ตัวอย่าง "สุเหร่า" หรือ "มัสยิด" อันเป็นศาสนสถานสำคัญของชาวมุสลิม ก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่รู้ว่ามีความสำคัญและที่มาที่ไปอย่างไร 

วงเสวนา สุเหร่ามุสลิม : ภาพสะท้อนบ้านแห่งหัวใจ "ไทย" จัดโดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อไม่กี่วันก่อน ช่วยให้เรารู้จัก "สุเหร่า" และเข้าใจ "วัฒนธรรม" ของชาวมุสลิมมากขึ้น ผ่านคำอธิบายของวิทยากรเชื้อสายไทยมุสลิม จากสาขาอาชีพต่างๆ ทั้งนักประวัติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ สถาปนิก และแพทย์ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นข้อมูลพื้นฐานว่า คำว่า "สุเหร่า" มาจากภาษาเปอร์เซีย ใช้เรียกสถานที่แสดงความเคารพต่อพระเจ้า แต่ในภาษาอาหรับใช้คำว่า "มัสยิด" และเมื่อประโยชน์ใช้สอยสำคัญคือเป็นที่สำหรับพระเจ้า เรื่องความสะอาด บริสุทธิ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญ 

"ความสะอาด หมายถึงทางกายภาพ ส่วนความบริสุทธิ์ หมายถึงความดี ความมีจิตใจงดงาม ดังนั้น ในมัสยิดจะไม่มีสิ่งที่ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งตอบโจทย์ว่า ทำไมอิสลามไม่ชอบสุนัข ไม่ทานหมู เพราะสัตว์เหล่านี้อยู่กับดิน อยู่กับความสกปรก"

ดร.จุฬิศพงศ์ อธิบายต่อว่า ศาสนาอิสลามไม่มีสถาปัตยกรรมของตัวเองอย่างแท้จริง แต่เนื่องจากเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในอาหรับ มัสยิดในช่วงแรกจึงมีรูปโดมคล้ายกระโจมของชาวอาหรับ เมื่อเข้าไปในเปอร์เซียก็เปลี่ยนเป็นโดมรูปหัวหอม คล้ายวิหารบูชาไฟของเปอร์เซีย และเมื่อเข้าสู่ไบเซนไทน์ ก็รับโดมแบบฝาชีของไบเซนไทน์มา กระทั่งมาถึงประเทศไทย การสร้างโดมแบบหัวหอม อาจรองรับน้ำฝนไม่ได้ จึงกลายเป็นหลังคาทรงจั่ว 

ดร.จุฬิศพงศ์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ประเทศไทยรับวัฒนธรรมของชาวมุสลิมมาหลายอย่าง อาทิ เรือนปั้นหยา อาจรับมาจากมัสยิดของชาวอิหร่าน ที่มักสร้างหลังคาทรงปั้นหยา เพราะฝนตกชุก ส่วนที่วัดโพธิ์ปฐมาวาส จ.สงขลา ก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนังพิธีในเดือนมูฮัรรอม ของมุสลิมนิกายชีอะต์ ปรากฏอยู่

นอกจากนี้ สินค้าหลายอย่าง ไทยก็รับมาจากโลกมุสลิม เช่น อาหาร ผ้า และน้ำกุหลาบ ซึ่งในอดีตนั้น หากจะเปลี่ยนโบสถ์ของศาสนาอื่นมาเป็นมัสยิด จะต้องเอาน้ำกุหลาบล้าง น้ำกุหลาบจึงเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ 

ด้าน ดร.อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า เอกสารและบันทึกโบราณพูดถึงศาสนสถานของชาวมุสลิมในชื่อที่แตกต่างกัน ทั้งมัสยิด สุเหร่า เสร่า บาแล กุฎี โรงสวดแขก และอิหม่ามบาราห์ 

แต่สิ่งที่มุสลิมทั่วโลกมองเหมือนกันคือ "มัสยิดคือบ้านของพระผู้เป็นเจ้า" เมื่อจะเข้าไปจึงต้องเปลี่ยนพฤติกรรมทันที ต้องอาบน้ำ แต่งกายเรียบร้อย และถ้าสังเกตจะเห็นว่า ภายในมัสยิดจะไม่มีรูปเคารพอะไรเลย เพราะเชื่อว่า ที่นี่อิสลามิกชนจะสามารถเข้าถึงพระเจ้าได้โดยตรง 

ดร.อาดิศร์อธิบายว่า การแสดงออกถึงความเป็นบ้านของพระเจ้าที่สำคัญ คือผ่านทางสถาปัตยกรรม สังเกตได้ว่า "มัสยิดอัลนะบะวีย์" ในสมัยท่านศาสดา จะสร้างอย่างเรียบง่ายจากดินโคลน กิ่งไม้ ไม่ประดับประดาอะไรเลย แต่เน้นการใช้งาน สิ่งสำคัญอยู่ที่พื้นที่ที่มีเอกภาพ ทุกคนสามารถแสดงความเคารพพระเจ้าได้อย่างเท่าเทียม และมีความสะอาด 

"มัสยิดกลางของแต่ละเมือง จะเอาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาใช้ เพราะมุสลิมมองว่า การสร้างบ้านของพระเจ้าต้องทำให้ดีที่สุด สำหรับมัสยิดในประเทศไทย ในช่วงแรกนำเอารูปแบบของวัดและวังมาใช้ ซึ่งเป็นรูปแบบอาคารที่ดีที่สุดในสมัยนั้น"

"การสร้างมัสยิด สิ่งแรกที่ต้องตั้งใจไว้คือ เราจะสร้างบ้านของพระเจ้า สิ่งต่อมาคือ การวิเคราะห์ข้อมูลว่า ชุมชนนี้มีวิถีชีวิตความเชื่ออย่างไรบ้าง บางชุมชนเน้นอัตลักษณ์ของชนชาติมาก บางชุมชนเน้นการนำไปใช้ในสังคมยุคใหม่ได้ นอกจากนี้เรื่องตำแหน่งที่ตั้งก็ต้องพิจารณา"

ดร.อาดิศร์บอกอีกว่า ข้อห้ามของชาวมุสลิม จะเป็นข้อห้ามในการสร้างมัสยิดด้วย จะเห็นว่าในมัสยิดไม่มีรูปเคารพ และไม่มีรูปสิ่งมีชีวิตใดๆ เลย แต่จะใช้สัญลักษณ์อย่างอื่นแทน เช่น รูปทรงเรขาคณิต ลายพันธุ์พฤกษา หรือลายอักษรประดิษฐ์ ไม่ใช่เพื่อความสวยงามอย่างเดียว บางครั้งอาจเป็นพระนามของพระเจ้า พระนามของศาสดา หรือข้อความในพระคัมภีร์ 

นอกจากนี้ ยังมีลายกราฟิกอื่นๆ อีก แสดงให้เห็นว่า ข้อห้ามที่มีอยู่กลายเป็นแรงผลักดันให้ศิลปินหาทางแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ 

"มัสยิดไทยสมัยแรก มีสถาปัตยกรรมแบบไทยค่อนข้างมาก ลักษณะเหมือนเรือนไทย แต่อาจมีขนาดใหญ่กว่า เช่น มัสยิดต้นสน ซึ่งเป็นหลังแรกๆ ของกทม. เดิมเป็นเรือนเครื่องไม้ ก่อนเปลี่ยนเป็นตึกปูนในภายหลัง ส่วนที่บางกอกน้อยก็มี มัสยิดอันซอริซซุนนะห์ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยประยุกต์ แต่ก็พังไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2" 

"ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 มัสยิดไทยได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ เนื่องจากมีพ่อค้าชาวอินเดีย ชวา เข้ามามาก มัสยิดหลายแห่งมีสถาปัตยกรรมแบบออตโตมันผสมอยู่ เนื่องจากอาณาจักรออตโตมันเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสามในขณะนั้น ต่อมา จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องการสร้างวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้คนมุสลิมหันกลับไปมองว่า แก่นแท้ของศาสนาอิสลามคืออะไร การศึกษาศาสนาอิสลามจึงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และนำไปสู่รูปแบบมัสยิดในปัจจุบัน" อาจารย์สถาปัตย์ อธิบาย

ส่วนมุมมองด้านรัฐศาสตร์นั้น ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่า ศาสนาอิสลามถือว่า ความสะอาดเป็นครึ่งหนึ่งของศรัทธา ก่อนละหมาดชาวมุสลิมต้องล้างมือ ล้างหน้า ล้างเท้า ชำระตัวเองให้สะอาดก่อน ดังนั้น เมื่อทหาร ตำรวจ ค้นบ้านชาวมุสลิมโดยเอาสุนัขเข้าไปด้วย ชาวมุสลิมจึงเดือดร้อนมาก เพราะต้องทำความสะอาดบ้านด้วยน้ำถึง 7 ครั้ง และครั้งหนึ่งนั้นต้องเป็นน้ำดิน 

"ในมัสยิดมีการสั่งสอนตักเตือนกันในนั้น มัสยิดจึงมีหน้าที่ทั้งทางศาสนา และทางสังคมการเมือง ไม่เฉพาะเรื่องของธรรมะ แต่รวมทั้งปัญหาโลกและการเมืองท้องถิ่นด้วย ในเหตุวินาศกรรม 9/11 หลายประเทศจับตามอง และเป็นกังวลมากเวลาเห็นเด็กหนุ่มเดินออกมาจากมัสยิด แต่กลับไม่เป็นกังวลเลยเวลาเห็นเด็กเหล่านั้นเดินออกมาจากผับบาร์" ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สะท้อนภาพมัสยิดในสายตาสังคมตะวันตก

ส่วนความประทับใจเกี่ยวกับมัสยิดในเมืองไทยนั้น ศ.ดร.ชัยวัฒน์ เล่าว่า เคยไปมัสยิดแห่งหนึ่งย่านบางลำภู ทางเข้าเป็นตรอกเล็กมาก ภายในมีทั้งชุมชนมุสลิม และชุมชนชาวจีนอาศัยอยู่ วันหนึ่งมีชาวจีนแบกหม้อใส่ตือฮวน ซึ่งทำจากหมูผ่านตรอกที่มีร้านข้าว และมีชาวมุสลิมนั่งอยู่เต็ม 

ทันทีที่เห็น แม่ค้าร้านข้าวก็ตะโกนว่า "หมูมาแล้วจ้าๆ" คนมุสลิมที่นั่งกินข้าวอยู่ก็ลุกให้คนขายตือฮวนเดินผ่านไป ขณะที่คนขายตือฮวนก็เดินตัวลีบ ระมัดระวังตัวเองอย่างเต็มที่ แต่ดูสีหน้าของคนมุสลิมที่นั่งกินข้าวอยู่ก่อนนั้น ไม่มีท่าทีโกรธเคือง หรือไม่พอใจคนขายตือฮวนเลย การอยู่ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างนี่เอง ที่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ มองว่าคือ "หัวใจ" ของความเป็นไทย

"มีแต่รัฐโง่ๆ ที่บีบบังคับให้ประชาชนต้องเลือกว่าจะภักดีกับใคร รัฐที่ฉลาดจะเปิดพื้นที่ให้ความหลากหลายดำรงอยู่ด้วยกัน รัฐต้องเข้าใจธรรมชาติของคนว่าเป็นอย่างไร ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าบังคับให้เขาต้องเลือก" ศ.ดร.ชัยวัฒน์แสดงความเห็นทิ้งท้าย เมื่อถามถึงนโยบายของรัฐ ที่พยายามกลืนวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับวัฒนธรรมหลัก

ด้าน พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 แสดงความเห็นในฐานะผู้อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นโยบายรัฐนิยมนำไปสู่ความขัดแย้ง การบังคับให้มีวัฒนธรรมเดียวคือปัญหา ทั้งๆ ที่ การผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยพุทธกับอิสลาม ถ้าไม่ขัดกับหลักศาสนาก็สามารถทำได้หมด 

พร้อมยกตัวอย่างมัสยิดที่ จ.อุดรธานี ที่คนพุทธบอกว่า มีปัญหาเรื่องเสียงอาซาน (เสียงเรียกทำละหมาด) ตอนตี 5 ชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมุสลิมจึงมาคุยกัน สุดท้ายได้ข้อสรุปให้หรี่เสียงอาซานตอนตี 5 ลง ส่วนเวลาอื่นให้ใช้เสียงปกติ สะท้อนว่าเมื่อได้เปิดใจคุยกัน ปัญหาก็ได้รับการแก้ไข

ก่อนที่ พ.ญ.เพชรดาว สรุปตรงๆ กระชับ ดังหัวเรื่องเสวนา สุเหร่ามุสลิม : ภาพสะท้อนบ้านแห่งหัวใจ "ไทย"

"หัวใจไทย คือการยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความแตกต่างนั้นมีอยู่จริง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มันเป็นกำแพง หรือเป็นสะพานเชื่อม ดังนั้น หัวใจไทยในความหมายของหมอคือ ความหลากหลาย แต่เราต้องการความเข้าใจที่จะอยู่ร่วมกันด้วย" 


หน้า 5


Take a look at our new heritage protection website – www.siamese-heritage.org

"Knowledge Gives Rise to Friendship"
was adopted as the Siam Society's motto in 1924,
to convey the message that the search for knowledge is the bridge to friendship between people of all nations.

The Siam Society Under Royal Patronage
131 Asoke Montri Road, Sukhumvit 21, Bangkok 10110, THAILAND
Tel. +66 (0) 2661-6470-7, Fax. +66 (0) 2258-3491, e-mail: info@siam-society.org
Web site: www.siam-society.org Office Hours: Tuesday - Saturday, 9.00 a.m. - 5.00 p.m.


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น