วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เตรียมพร้อมสู้ภัยพิบัติทางธรรมชาติคุกคามแบบ "ตื่นตัว" ไม่ "ตื่นตูม" รับมือปี "มังกรระเริงชล"

 

เตรียมพร้อมสู้ภัยพิบัติทางธรรมชาติคุกคามแบบ "ตื่นตัว" ไม่ "ตื่นตูม" 

รับมือปี "มังกรระเริงชล"

พ.ศ.2555......ปีมังกร

ปีที่คนส่วนใหญ่รอคอยด้วยความหวัง ว่า จะเป็นปีมงคล ปีแห่งความยิ่งใหญ่ ปีแห่ง ความเจริญรุ่งเรืองและปีที่จะมีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชีวิต

เนื่องจากตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษของชาวจีนผืนแผ่นดินใหญ่ สืบต่อมาจนถึงชาวไทยเชื้อสายจีนบนแผ่นดินสยามปัจจุบัน มีความเชื่อกันว่า มังกรเป็นสัตว์มงคล และเป็นเบอร์ 1 ใน 4 สัตว์มงคลของชาวจีน โดยเรียงลำดับ มังกร หงส์ กิเลน และเต่า ทั้งมังกรยังถือเป็นสัญลักษณ์ของฮ่องเต้ด้วย

แต่ในโลกปัจจุบันที่ธรรมชาติถูกจ้องทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์ ความหวังของมนุษย์ที่อยากจะมีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง จึงมีโอกาส "ไม่ได้ดั่งใจ" ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นคือหากมนุษย์ยังไม่สำเหนียกถึงภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดจากสิ่งที่หลายคนพูดกันอยู่เสมอว่า "ธรรมชาติเอาคืน" และเร่งหาทางป้องกันให้ต้นเหตุแห่งภัยพิบัติอันเกิดจากมนุษย์บรรเทาเบาบางลงแล้ว

ปีมังกร 2555 อาจต้องกลายเป็นปีแห่งความทุกข์ยากแสนสาหัสขนาดที่นึกไม่ถึงกันเลยก็ได้


เพราะหากดูจากข้อมูลทางภูมิศาสตร์กายภาพแล้ว ปีมังกร 2555 น่าจะหนีไม่พ้น ปี "มังกรระเริงชล" ที่คนไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติชนิดอกสั่นขวัญกระเจิงกันอีกครั้ง เนื่องจากน่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่ธรรมชาติจะยังคงวิปริตผิดเพี้ยน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนในหน้าหนาว อากาศหนาวในหน้าร้อน น้ำท่วมหนักสุดในรอบร้อยปี การเกิดสึนามิครั้งใหญ่ แผ่นดินไหวจนจุดศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน รวมทั้งรอยแยกที่มีพลังตามจุดต่างๆทั่วประเทศ ฯลฯ

ที่สำคัญเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ซึ่งยังคงตามหลอกหลอนคนไทยทั้งประเทศ ก็เป็นเรื่องที่สุดจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดซ้ำขึ้นอีกหรือไม่ และอีกเพียงไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะก้าวเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่เริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.หรือเดือน 6 ของทุกปีอีกแล้ว

นั่นก็หมายความว่า นับจากวันปีใหม่นี้ วันที่ 1 มกราคม 2555 เราจะมีเวลาอีกเพียง 6 เดือนเท่านั้นฤดูฝนก็จะมาถึงแล้ว ทั้งนักวิชาการด้านน้ำต่างระบุตรงกันว่า ปี 2555 น้ำจะมากกว่าปี 2554

ดร.สมิทธ ธรรมสโรช

ดร.สมิทธ ธรรมสโรช


นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) ระบุว่า ปี 2555 ปริมาณน้ำจะมีมากขึ้น เพราะอิทธิพลต่อเนื่องจากลานินญา คือ ปรากฏการณ์ที่ น้ำฝนมากผิดปกติ เพราะความแปรปรวนของอุณหภูมิของอากาศและน้ำในมหาสมุทรต่างๆ  และมักจะเกิดในทิศทางที่ตรงข้ามกันด้วย ระบบภูมิอากาศโลกจึงมีการสลับไปมาทุกๆ 3-5 ปีโดยเฉลี่ย

"ปี 2555 ภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำท่วมจะรุนแรง และคาดว่ากรุงเทพมหานครจะเป็นหนึ่งในเมืองหลวงหลายแห่งในทวีปเอเชีย ที่จะได้รับผลกระทบจากการละลายของ ภูเขาน้ำแข็งมากที่สุด โดยภายใน 2-9 ปี น้ำจะท่วมกรุงเทพฯและหลายจังหวัดในภาคกลางอย่างถาวร ระดับน้ำสูง 1-1.5 เมตร เนื่อง จากกรุงเทพฯตั้งอยู่บนดินเหลว และมีการทรุดตัวของแผ่นดินอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้กรุงเทพฯ ยังอาจเกิดแผ่น-ดินไหว เพราะมีรอยเลื่อนถึง 13 รอย ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดย เฉพาะรอยเลื่อน จ.กาญจนบุรี หากมีแผ่นดินไหวมากกว่า 7 ริก-เตอร์ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งตั้งทับรอยเลื่อนเหล่านี้จะแตก จนทำให้น้ำท่วมบริเวณใกล้เคียงสูงถึง 25 เมตร ภายในเวลา 5 ชั่วโมง" นายสมิทธ ฉายภาพภัยพิบัติที่กำลังจ่อคิวเข้าคุกคามประเทศไทย พร้อมระบุด้วยว่า พื้นที่ภาคใต้ของไทย อาจเจอคลื่นสึนามิอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งอันดามัน  และฝั่งอ่าวไทย และจะรุนแรงยิ่งกว่าสึนามิเมื่อ 7  ปีที่แล้ว  เนื่องจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวมาจากอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีระยะเคลื่อนที่ของคลื่นไม่ถึง 40 นาทีก็จะถึงชายฝั่งของไทย ทั้งนี้ การเกิดแผ่นดิน ไหวและสึนามิ ก็มีสาเหตุมาจากลมสุริยะ

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา


ขณะที่ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คาดการณ์ถึงสภาพอากาศในปี 2555 ว่า "จะมีปริมาณน้ำมาก คือฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ย นอกจากนี้ ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีพายุหรือร่องความกดอากาศต่ำที่เข้ามาอย่างไม่ทราบสาเหตุ จนทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างในปีนี้หรือไม่ เนื่องจากไม่มีปัจจัยใดนำมาคาดการณ์ได้ และประเทศไทยจะต้องอยู่ในภาวะน้ำมากแบบนี้อีกราว 5-10 ปี"

ผอ.สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ให้ความเห็นด้วยว่า คงปฏิเสธไม่ได้ ว่าในอนาคตโลกนี้จะเต็มไปด้วยน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำแข็งซึ่งครอบคลุมไปทั่วทั้งมหาสมุทร อาร์กติกนั้น ได้เบาบางลงไปแล้วถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้พื้นที่ที่เคยปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งหดตัวลงไปแล้วไม่น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะส่งผลกับระดับน้ำทะเล และหากประกอบกับความร้อนที่เกิดจากมนุษย์โดยการขุดเอาน้ำมัน ถ่านหินที่มีในโลกมาเผาให้หมดเกลี้ยง เพิ่มระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ น้ำแข็งในขั้วโลกใต้ก็ละลาย แม้เพียงบางส่วน แต่เชื่อว่าจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 1-3 เมตร เพราะ ฉะนั้นพื้นที่กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมจึงไม่แปลก เพราะกรุงเทพฯ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเมตรเศษๆมันเป็นแค่น้ำท่วมชายฝั่งไม่ใช่น้ำท่วมโลก อย่างพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ไม่ท่วมแน่นอน ยกเว้นพื้นที่ต่ำชายฝั่งทะเล มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมจริง


"อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องตื่นตระหนกกับเรื่องไกลตัว แต่ควรหันกลับมาสนใจภัยใกล้ตัวอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ เช่น มลพิษ ดินถล่ม ฝนตก  น้ำท่วม  จากการพัฒนาพื้นที่โดยไม่ได้คำนึงลักษณะภูมิประเทศ ธรณีสัณฐาน ภูมิอากาศ มัวแต่ไปโทษปัจจัยภายนอก เรื่องโลกร้อน แกนโลกเอียง แต่ไม่เคยดูปัจจัยภายในตัวเอง" นายอานนท์กล่าวพร้อมคาดการณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในอีก 6 เดือนข้างหน้าด้วยว่า มีการเก็บข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับลมมรสุมพบว่าประเทศไทยมีมรสุมเข้ามาปีละ 3 ลูกโดยเฉลี่ย ไม่ถือว่าหนัก แต่ปีหน้าประเทศไทยยังมีโอกาสเจอน้ำมากจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ พบว่าเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนทำให้ใน 5-6 ปี เราต้องเจอสถานการณ์แบบปี 2554 แต่ก็คิดว่าเราจะมีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือ โดยสิ่งที่ต้องรับมือมี 5 อย่างขณะนี้ คือ 1.ประตูระบายน้ำ 2.คันกั้นน้ำ 3.สถานีระบายน้ำ 4.แก้มลิง และ 5.คูคลอง ถ้าไม่ทำหนักแน่

แม้แต่กรมชลประทาน โดย นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ยังระบุว่า "อิทธิพลของลานินญาจะทำให้เกิดสภาวะมีฝนมาก ทำให้ปี 2555 ประเทศไทยอาจต้องประสบภาวะฝนฤดูร้อนหรือฝนมาเร็วกว่าฤดูกาล"

แน่นอน การคาดการณ์ทั้งหลายแหล่เหมือนจะส่งสัญญาณที่แน่ชัดไปในทางเดียว กันแล้วว่า ปีหน้ามีแนวโน้มฉายแววชัดเจน พื้นที่ของประเทศไทยจะยังคงเต็มไปด้วยน้ำ อันเนื่องมาจากภาวะลานินญารวมทั้งอุณหภูมิความร้อนของโลกที่สูงขึ้นและข้อมูลที่ประมวลจากผู้รู้เรื่องน้ำระดับ "กูรูน้ำ" เหล่านี้ คือสิ่งที่ต้องไม่มองข้าม

ประกอบกับธรรมชาติ โดยเฉพาะป่า แม่น้ำ ภูเขา ที่ถูกทำลายจนทำให้ภัยธรรมชาติประเภทแผ่นดินไหว ภูเขาถล่ม ดินทลาย กลายเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลถึงขนาดที่มีคนเสียชีวิตไปแล้วนั้น ยิ่งเหมือนเชื้อปะทุที่ช่วยเสริมให้ภัยธรรมชาติกลายเป็นอันตรายต่อประเทศไทยอย่างยิ่งในห้วงเวลานี้


ยิ่งหากหันกลับไปมองช่วงเวลาที่ผ่านมา ยิ่งเหมือนการยืนยันชัดเจนว่าธรรมชาติได้ดลบันดาลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะลม-ฟ้า-อากาศ หนักหน่วงเพิ่มขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม จ.นครราชสีมาครั้งแรกในรอบ 50 ปี เมื่อเดือน ต.ค.ปี 2553 ต่อเนื่องด้วยน้ำท่วมหนักที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาในเดือน พ.ย.ปีเดียวกัน ก่อนจะเกิดน้ำท่วมภาคใต้เกือบ 14 จังหวัดครั้งใหญ่ที่สุดในเดือน มี.ค.-เม.ย.2554 พร้อมๆกับการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ตามมาด้วยการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า แต่ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากอาคารสูง บริเวณอโศก พระราม 9 สีลม รัชดาฯ บางอาคารเกิดการสั่นโยกราว 3 นาที

ตอกย้ำถึงแนวโน้มการเกิดภัยพิบัติต่างๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้นด้วยข้อมูลจาก ดร.ก้องภพ อยู่เย็น นักวิทยาศาสตร์องค์การนาซ่า ระบุว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในโลก ส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ แต่สาเหตุสำคัญที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือการเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นจุด ศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาล โดยทุกครั้งที่มีการระเบิดบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ จะทำให้เกิดลมสุริยะพัดออกมาโดยรอบดวงอาทิตย์และเคลื่อนที่มาถึงโลก มีผลทำให้สนามแม่เหล็กของโลกถูกรบกวนจนแปรปรวน จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งกระแสน้ำในมหาสมุทร และการก่อตัวของพายุอย่างฉับพลัน

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว ลมสุริยะจะใช้เวลาเดินทางมาถึงโลกภายใน 3-5 วัน ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถคาดการณ์ได้ว่า หากเกิดลมสุริยะ ในโลกจะเกิดการเปลี่ยน-แปลงภายใน 1 วัน จากนั้นอีก 3 วันจะเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้น เช่น กรณีน้ำท่วมประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลังจากที่ดวงอาทิตย์ระเบิดเพียง 4 วัน หลังจากนั้น ฝนตกอย่างหนัก


ถึงวันนี้ ป่าไม้ ที่ถือเป็นต้นน้ำสำคัญและเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ถูกกลุ่มนายทุนกว้านซื้อที่ดินเพื่อสร้างรีสอร์ตและปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกมากที่สุด คือตั้งแต่เดือน ม.ค. 2554 พบว่ามีการกระทำความผิดมากถึง 1,500 คดี ปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 104 ล้านไร่เศษ หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของพื้นที่ทั้งประเทศ จากเดิมที่เคยมีในปี พ.ศ.2504 ราว 171 ล้านไร่ ลดลงเกือบ 70 ล้านไร่ จากการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้ ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เกิดภาวะน้ำท่วม ขาดแหล่งไม้ใช้สอย อาหาร ยา รายได้ รวมถึงภาวะโลกร้อน และภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

การรุกป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ โดย เฉพาะยางพารา ยังส่งผลถึงการเกิดดินถล่มและรอยแยกจำนวนมหาศาลโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคใต้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแทบทุกครั้ง เมื่อเกิดฝนตกหนัก โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ดิน น้ำ เป็นต้น

"ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม" ขอฝากแง่คิดส่งท้ายปี 2554 และ ต้อนรับปี "มังกรระเริงชล 2555" ด้วยการนึกย้อนกลับไปถึงความเชื่อของคนไทยรุ่นปู่ย่า ตายาย ที่มีคำเปรียบเปรยถึงการเตือนภัยให้ระวังตัวว่า "จิ้งจกทัก" ยังทำให้เราต้องหยุดคิด และตั้งสติ พร้อมคิดทบทวนอย่างรอบคอบก่อนจะลงมือทำอะไร


ถึงวันนี้มีเสียงส่งสัญญาณเตือนภัยจากมนุษย์ ด้วยกันเอง ที่ศึกษาข้อมูล และมีการวิเคราะห์ วิจัยอย่างรอบคอบชนิดถี่ยิบ จนนำมาซึ่งข้อสรุป คือ การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จ่อคิวคุกคามโลกจะมีอัตราการเกิดที่ถี่ขึ้น ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือภัยพิบัติที่เกิดจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ถึงเวลาหรือยังที่มนุษย์จะสำเหนียกถึงอันตรายใกล้ตัวที่มีแต่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกนาที

ฤา ต้องรอจนเห็นโลงศพจึงหลั่งน้ำตา!!!

 

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม

 

โดย: ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม

1 มกราคม 2555, 05:30 น.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น