คริสต์มาสที่ผ่านมา คุณผู้อ่านไปทำอะไรมาบ้าง?
ไปถ่ายรูปกับต้นคริสต์มาส หรือว่าไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆ?
แต่สำหรับชาวตำบลนาบัว จังหวัดพิษณุโลกนั้น พวกเขามีงาน "เวทีวิชาการชาวบ้าน" กันละ
อยากรู้ใช่ไหมว่า "เวทีวิชาการชาวบ้าน" เป็นอย่างไร
วันนี้ มติชนออนไลน์จะพาไปรู้จักกัน
แต่ก่อนอื่นๆเรามารู้จักกับ "ตำบลนาบัว" อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก กันก่อนดีกว่า
ตำบลนาบัวมีหมู่บ้านทั้งหมด 15 หมู่บ้าน โดยหมู่ที่ 15 บ้านน้ำแจ้งพัฒนา หรือ "บ้านภูขัด" นั้นมีชาวม้งอาศัยอยู่ "ภูขัด" ยังเป็นชุมชนชาวม้งที่ใหญ่โตใช่เล่น เพราะมีประชากรอาศัยอยู่ถึงพันกว่าคน
ชุมชนเขาใหญ่ไหมล่ะ ?
คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไม ตำบลนี้ถึงต้องชื่อ "นาบัว"
ที่มาก็คือ นาข้าวของตำบลนี้ เวลาปลูกข้าวจะมีดอกบัวดอกเล็กๆผุดขึ้นมาเต็มท้องนา แทรกไปกับต้นข้าวมากมาย
ทำให้ใครต่อใครพากันเรียกที่แห่งนี้ว่า "นาบัว"
แต่พอไปถามชาวบ้านว่า "นาบัว" ที่ว่านี้ อยู่ที่ไหน อยากจะเห็นสักครั้ง
ก็ได้รับคำตอบว่า ตอนนี้นาที่มีบัวผุดแทบจะไม่มีเหลือแล้ว เพราะชาวนาใช้รถไถทำนา"ไถที่นาแต่ละทีก็ไปทำลายรากบัวในดินตายหมด"
นอกจากที่มาของชื่อซึ่งน่าสนใจแล้ว ตำบลนี้ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ
พื้นที่บางส่วนของตำบลนี้ เคยเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สู้รบกับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เนื่องจากแถบนี้เป็นภูเขาสลับซับซ้อน แถมยังอยู่ติดกับภูหินร่องกล้าอีกด้วย
เห็นไหมว่า ตำบลนี้มีแต่เรื่องน่าสนใจ
---
เมื่อวันที่ 25 - 26 ธันวาคมที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ได้มีโอกาสติดตามคณะสสส.ที่มีนายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) เป็นผู้นำคณะเพื่อไปร่วมงาน "เวทีวิชาการชาวบ้าน"
ชาวนาบัว
เวทีวิชาการชาวบ้าน คืออะไร?
เรามาทำความรู้จักกับ "เวที" ที่ว่ากันดีกว่า
เวทีวิชาการชาวบ้าน ณ ตำบลนาบัว เป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนในตำบลได้มาแสดงความคิดเห็น นำเสนอปัญหา และนำเสนอผลงานของแต่ละหมู่บ้าน
ให้คนในหมู่บ้านอื่นได้รับรู้ และยังได้เสนอปัญหาไปยังเจ้าหน้าที่ปกครองในตำบล อำเภอ จังหวัด ให้รับรู้ปัญหาและเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่อไปให้อีกด้วย
เวทีวิชาการชาวบ้านจะจัดขึ้นในวันที่ 8 มกราคมของทุกปี ซึ่งปีนี้ก็เป็นปีที่ 15 แล้ว
โดยเจ้าภาพที่จัดจะเวียนกันไป ปีละ 1 หมู่บ้าน
หมู่บ้านที่เป็นเจ้าภาพจะต้องรับหน้าที่จัดการงานทุกอย่างให้เรียบร้อย
มีเวลาเตรียมตัว-เตรียมความพร้อม 1 ปี
ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นหน้าเป็นตาของหมู่บ้านเจ้าภาพเป็นอย่างมาก
---
ในปีนี้หมู่บ้านที่ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดงานคือ หมู่ที่ 15 บ้านน้ำแจ้งพัฒนา หรือบ้านภูขัดนั่นเอง
แต่ปีนี้มีความพิเศษกว่าปีก่อนๆก็คือ ชาวภูขัดได้ขอจัดงานในวันที่ 26 ธันวาคม
เนื่องจากในวันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันปีใหม่ม้ง ซึ่งต้องมีการจัดงานเลี้ยงฉลองกัน
หากจะจัดงานวันเวทีวิชาการชาวบ้าน ในวันที่ 8 มกราคม เหมือนเช่นทุกปีนั้น
ทางผู้ใหญ่บ้านภูขัด บอกว่า ทางชาวภูขัดไม่สะดวก
เพราะการเดินทาง จัดหาของจำเป็นขึ้นไปจัดงานที่ภูขัดนั้น ทำได้ลำบาก เนื่องจากทางขึ้นไปยังยอดภูยังเป็นทางดิน ที่ไม่ง่ายต่อการเดินทาง
หากจะจัดนั้น ก็ขอจัดให้ติดกับวันปีใหม่ม้งเลย
จะได้จัดให้เสร็จเรียบร้อยไปภายในระยะเวลาใกล้ๆ กัน
ซึ่งชาวนาบัว ก็ไม่ขัดข้อง
---
ก่อนที่เราจะไปพบกับบรรยากาศของงานเวทีวิชาการชาวบ้านในวันที่ 26 ธันวาคม
ทางชาวนาบัวได้พา มติชนออนไลน์และคณะไปพบกับศูนย์การเรียนรู้ของชาวนาบัว ซึ่งมีอยู่ 3 ศูนย์ด้วยกัน
ศูนย์การเรียนรู้แรกที่เราได้ไปคือ "ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมชุมชน"
ศูนย์นี้จะมีการสาธิตและแสดงผลงานอยู่หลายอย่าง ได้แก่
การแทงหยวก
การแทงหยวกมีวิทยากรคือลุงมงคล สีดารักษ์ คุณลุงได้สาธิตการแทงหยวกประดับบน "แลแห่นาค" ที่มีไว้ให้นาคได้ขึ้นไปนั่งแห่ไปที่วัด
หยวกที่ใช้สำหรับแลแห่นาคนั้น จะต้องแทงเป็นรูปพญานาค (แต่หากประกอบงานอื่นๆก็เป็นรูปอื่นๆแล้วแต่กันไป)
ลุงมงคล
แล 1 แล ใช้ได้แค่ครั้งเดียว เพราะระหว่างที่แห่แลไป คนแบกแลก็จะเขย่าแลไปตลอดทาง
นาคก็ต้องระวังไม่ให้ตัวเองตกแล และพอใช้เสร็จส่วนมากแลก็จะพัง เพราะโดนเขย่านี่แหละ
แต่ลุงบอกว่า ตอนนี้ไม่ค่อยมีใครทำแลกันแล้ว
เพราะการจะแห่ด้วยแลนั้น ต้องมีการจัดงานฉลอง 3 วัน 3 คืนคู่กันไป
ทำให้สิ้นเปลืองมาก คนจึงไม่นิยมแห่ด้วยแล
แต่ถ้าจะให้ลุงทำ ลุงก็คิดค่าทำแค่ถูกๆนะ ลุงมงคลว่า
และเมื่อมีคนถามว่า แลนี้นั่งได้กี่คน ลุงแกตอบกลับมาว่า นั่งได้คนเดียว แฟนนาคห้ามนั่ง!
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับแลอีกอย่างหนึ่งก็คือ
แลแห่นาคนั้นห้ามผู้หญิงจับ ห้ามคนที่ไม่ได้รับอนุญาตจับ
ไม่งั้นหัวจะล้าน! ลุงเคยเห็นมาแล้ว
อีกผลงานหนึ่งที่มีการนำมาโชว์ คือ การทำเครื่องดนตรีไทย เช่น ซออู้ ซอด้วง
ลุงสำราญ หมื่นพันธ์ ได้เล่าถึงวิธีการทำซออย่างน่าสนุก พร้อมกับเล่าว่า สายซอนั้น ลุงเอาสายเบรกจักรยานที่ทิ้งแล้วมาทำ
เมื่อถามว่า แล้วถ้าเค้าไม่ทิ้งล่ะ ลุงจะทำอย่างไร?
ลุงแกตอบว่า ถ้าเขาไม่ทิ้ง เราก็ไม่ได้ทำ
เป็นซอที่ขึ้นอยู่กับชะตาชีวิตจักรยานจริงๆ
เมื่อถามต่อว่า ทำไมลุงถึงทำซอ?
ลุงตอบอย่างยิ้มแย้มว่า ก็เพราะใจรัก ตนเล่นซอมาตั้งแต่เด็ก เลยหัดทำ
การได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักนี่มันช่างดีจริงๆ ว่าไหม ?
---
จากฐานการเรียนรู้นี้ เรายังได้รู้จักพิธีการเลี้ยงผีปู่ของชาวนาบัว
ชาวนาบัวจะเลี้ยงผีปู่ประมาณ เดือน 4 - เดือน 7 ในช่วงฤดูทำนา แต่ละหมู่บ้านจะเลี้ยงผีปู่ไม่พร้อมกัน
ในการเลี้ยงผีปู่นั้น จะมีการแก้บนของชาวนาบัวในงานอีกด้วย
ชาวนาบัวจะแก้่บนในพิธีเลี้ยงผีปู่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น (ไม่ว่าจะบนไว้กี่ครั้งก็ตาม)
นอกจากนี้ ยังมีพิธีปักธงของแต่ละหมู่บ้าน
จากการสอบถามนายประเจตน์ หมื่นพันธ์ นายกอบต.นาบัว ว่าประเพณีนี้เป็นอย่างไร
นายประเจตน์ บอกว่า ในช่วงวันสงกรานต์ ชาวนาบัวจะนำธงไปปักไว้ที่วัด
เมื่อสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ แต่ละหมูบ้านจะเลือกธงจากที่ปักไว้มาเพียงหมู่บ้านละ 1 ธง เพื่อนำไปปักไว้ที่เนินเขาของแต่ละหมู่บ้าน โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีเนินที่สูงที่สุดประจำหมู่บ้าน 1 เนิน
เป็นการแสดงให้เห็นว่า ใครจะไปตัดไม้ทำลายป่าบริเวณนั้นไม่ได้
เพราะป่าคือซูเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้าน
เป็นแหล่งอาหารที่ชาวบ้านหวงแหน
หากปีใด หมู่บ้านไหน ไม่นำธงไปปัก ปีนั้น หมู่บ้านนั้นจะได้รับภัยพิบัติ ฝนฟ้าจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล
เป็นกุศโลบายในการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ดีจริงๆ
---
ศูนย์การเรียนรู้ที่ 2 คือ "ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสาน" ของลุงทวี สีดารักษ์ หรือลุงแปว
สวนของลุงเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสานอย่างแท้จริง
เช่น เมื่อหมดหน้านา ลุงก็ปลูกข้าวโพดบนที่นาแทน
บ่อเลี้ยงปลาของลุง มีเล้าไก่อยู่ข้างบน
มีการเพาะพันธุ์กบ เพาะพันธุ์ปลาจำนวนมาก
มีวิธีเพาะเห็ด โดยไม่ต้องทำโรงเพาะ
วิธีการไล่แมลงศัตรูพืชก็ใช้วิธีการรมควัน ไม่ใช้สารเคมีใดๆทั้งสิ้น
บ่อกบ
บ่อกบ (2)
บ่อเพาะพันธุ์ปลา
ลุงได้เริ่มทำการเกษตรผสมผสานมาตั้งแต่ปี 2539
พอทำสำเร็จก็มีคนเข้ามาศึกษา เริ่มมีคนมาขอพันธุ์ปลา พันธุ์กบ
ลุงแกก็ให้ไปฟรีๆ
ลุงแปวบอกว่า สวนของลุงเป็นสวนปลอดสารเคมี
ลุงมีพอกินพอใช้ ไม่ต้องไปซื้อหา อยู่อย่างพอเพียง
ลุงยังบอกปรัชญาดำเนินชีวิตของแกอีกด้วยว่า
"ชีวิตผมต้องทำ ไม่ทำก็ไม่สำเร็จ"
แน่ะ .. คำคมลุงเท่มาก
อ้อ ที่สวนของลุงแปว ยังมีกระท่อมเล็กๆเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าพักด้วยนะ
น่าจะได้บรรยากาศดีไม่ใช่น้อย
เพาะเห็ด
ทุ่งข้าวโพดบนนาข้าว
ลุงแปว
---
ศูนย์การเรียนรู้ที่ 3 "กลุ่มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน" ของนางเตือนใจ ขุมขำ
ศูนย์นี้เป็นศูนย์แนะนำสมุนไพรพื้นบ้านที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
มีทั้งใบหนาด ที่นอกจากจะใช้ไล่ผีได้แล้ว (?) ยังใช้ขับลม แก้ปวดท้อง แก้โรคทางเดินหายใจต่างๆ
ต้มให้ผู้หญิงคลอดลูกใหม่ๆใช้ดื่มขับเลือดเสียได้ด้วย
อีกทั้งใบพลับพลึงที่สามารถใช้แก้บวม แก้ฟกช้ำ และใบต่างๆอีกมากมายนับไม่ถ้วน
นอกจากนี้ก็ยังมีน้ำสมุนไพรให้ทดลองชิม
นอกจากสมุนไพรแล้ว ยังมีบริการนวดแผนไทย
ใครเมื่อยก็ลองไปนวดดูได้
ศูนย์สมุนไพร
ศูนย์การเรียนรู้นี้ ไม่ได้เป็นศูนย์ที่ให้บริการโดยตรงเหมือนกับโรงพยาบาล
ถ้าเจ็บป่วยเป็นอะไรมาก็จะดูแลให้ ไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วแต่ศรัทธาของผู้มาใช้บริการ ศรัทธาให้เท่าไรกัน
---
เมื่อชาวนาบัวพามติชนออนไลน์และคณะเที่ยวชมศูนย์การเรียนรู้ของตำบลจนจบแล้ว
ก็ถึงเวลาที่จะเดินทางขึ้นไปพักยัง "ภูขัด" หรือ "บ้านบน" ในคำเรียกของชาวนาบัว (ชาวนาบัวจะเรียกชาวม้งที่อาศัยอยู่บนภูขัดว่า บ้านบน เพราะการเรียกบ้านบน-บ้านล่าง จะให้ความรู้สึกสนิทสนมและไม่เป็นการดูถูกเชื้อชาติกัน)
รถที่จัดมารับขึ้นยอดภูขัดครั้งนี้
นายกอบต.ประเจตน์บอกว่า ได้จัด "รถเปิดประทุน" มาให้
เป็นรถเปิดประทุนหลายที่นั่ง ให้เลือกนั่งตามอัธยาศัย
ใช่แล้ว... "รถกระบะ" นั่นเอง
เหตุเพราะทางขึ้น ภูขัด นั้นลาดชัน (เกือบ) มาก
รถตู้ รถเก๋ง และรถที่ไม่ใช่โฟร์วีล ขึ้นไปไม่ได้
แต่ที่สำคัญกว่านั้น ทางขึ้นภูขัด กว่าครึ่งเป็นถนนดิน
มั่นใจได้ว่า หากใครได้นั่งกระบะเปิดประทุนไป รับรอง "ผมแดง ตัวแดง" กันทุกราย
นั่งรถออกจากศูนย์การเรียนรู้
ระหว่างทางขึ้น ไปบนยอดภูนั้น นายกประเจตน์ ได้เล่าให้ฟังว่า
ทางขึ้นยอดภูนี้ แต่เดิม เป็นถนนดินตลอดทั้งสาย เดินทางลำบากมาก
ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 2 ชั่วโมง จากบ้านล่างไปบ้านบน
แต่พอทางชาวภูขัดรู้ว่ากำลังจะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเวทีวิชาการชาวบ้านครั้งที่ 15 นี้
ผู้ใหญ่บ้านภูขัดก็ได้พยายามของบมาทำถนนให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จ จากเดิมถนนนี้เป็นทางดินล้วน
ตอนนี้มีทางลาดยางเพิ่มขึ้นมาหลายกม.
เหลือทางดินเพียง 8 กม. เท่านั้น
ถึงยอดภูขัด ก็ตกค่ำพอดี อากาศที่นี่ก็เย็นไม่ใช่น้อย
ลมก็แรงไม่ใช่เล่น ฝุ่นบนนี้ก็เยอะไม่แพ้ถนนที่เดินทางมา
ทุกคนที่อยู่ที่นี่เลยได้ผมแดง ตัวแดง กันถ้วนหน้า (นึกว่าจะรอดแล้วเชียว!)
อ๊ะ พื้นที่หมดแล้ว... โปรดติดตามงาน "เวทีวิชาการชาวบ้าน" ที่บ้านภูขัด ต่อได้ในตอนหน้า
แล้วพบกันใหม่