วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

TDRI: ปฏิรูปกองทุนยุติธรรม ลดเหลื่อมล้ำ ช่วยคนจนพ้นคุก Wed, 2011-03-16 12:49

 

TDRI: ปฏิรูปกองทุนยุติธรรม ลดเหลื่อมล้ำ ช่วยคนจนพ้นคุก

 

สำหรับคนจนผู้ยากไร้แล้ว เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องใหญ่และหนักหนาสาหัส และมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าดำเนินการ ค่าทนายความ และที่สำคัญคือ เงินประกันตัวเพื่อขอสู้คดีโดยไม่ต้องถูกคุมขัง ซึ่งแม้กฎหมายไม่ได้บังคับแต่เป็นทางปฏิบัติกันมาตลอด เป็นต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมที่ผู้ยากไร้นั้นยากจะหาได้

กองทุนยุติธรรม ที่กระทรวงยุติธรรมตั้งขึ้น จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือให้ผู้ยากไร้ได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยกองทุนจะรับภาระค่าดำเนินการในกระบวนการให้ตามแต่กรณี แต่ด้วยเหตุที่กองทุนยุติธรรมตั้งขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐและรายรับของกองทุนมาจากเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้เพียงปีละประมาณ 30 ล้านบาท ทำให้ช่วยเหลือผู้ยากไร้ได้จำกัด และเฉพาะผู้ที่สามารถเข้าถึงกองทุนได้เท่านั้น

ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอแนวคิดการปฏิรูปกองทุนยุติธรรมเพื่อให้กองทุนมีความมั่นคง สามารถช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้ได้เข้าถึงความยุติธรรมจำนวนมากขึ้น ด้วยแนวคิดการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายของกองทุน โดยเสนอให้มีการหักเงินบางส่วน(เป็นเปอร์เซ็นต์)ของผู้มีฐานะ(คนรวย)ในกระบวนการยุติธรรม เช่น ค่าขึ้นศาล ค่าทนายความ หลักประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลสั่งริบ นำมาเข้ากองทุนยุติธรรมเพื่อเพิ่มรายรับ โดยกำหนดเป็นระเบียบหรือข้อกำหนดที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

เหตุที่ความยุติธรรมนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย คนจนยากไร้จึงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้น้อยกว่าคนรวย กองทุนยุติธรรมนั้นตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่ดีมาก เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง โดยใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรเข้าไปช่วยเหลือประชาชน กองทุนจึงมีภารกิจการให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ในกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีจำนวนมาก แต่กองทุนมีเงินเพียงปีละประมาณ 30 ล้านบาท ทำให้การดำเนินการมีข้อจำกัด สามารถช่วยเหลือผู้ยากไร้ได้เพียงคนจำนวนน้อยเท่านั้น

สังคมจะดีขึ้นถ้าคนรวยสละเงินบางส่วนเอามาเข้ากองทุนแล้วให้คนจนที่เดือดร้อน ได้ใช้เงินในส่วนนี้ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นสังคมของการแบ่งปัน และไม่เอาเปรียบ วิธีการอย่างนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมและในสังคมลงได้

ดร.ปกป้อง กล่าวว่า ปัญหาตอนนี้คือทำอย่างไรจะทำให้กองทุนยุติธรรมนี้ มีสถานะที่ดีขึ้น โดยมีรายได้สัมพันธ์กับรายจ่าย ปัจจุบันกองทุนยุติธรรมมีรายได้ทางเดียวจากเงินอุดหนุนของรัฐซึ่งไม่เพียงพอที่จะไปช่วยเหลือคนจนยากไร้ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ทั้งหมด โดยรายจ่ายของกองทุนยุติธรรม ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) ค่าขึ้นศาลหรือค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งเป็นการใช้สิทธิทางศาล โดยจ่ายร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่ต้องการเรียกร้อง 2) ค่าทนายความ คนรวยมีเงินจ้างทนายเก่งๆ แพงๆ แต่คนยากไร้เมื่อถูกฟ้องร้อง ต้องการใช้สิทธิทางศาล ไม่มีเงินมากพอจะจ้างทนายเก่งๆ ราคาแพงเป็นที่ปรึกษากฎหมาย 3) ค่าประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา

เมื่อต้องการให้กองทุนยุติธรรมสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ได้มากขึ้นและดีขึ้นนั้น จึงต้องบริหารจัดการให้กองทุนมีรายได้เพิ่ม มีการบริหารจัดการที่ดี และมีความมั่นคง โดยแนวทางที่เสนอ ในส่วนการเพิ่มรายได้ของกองทุน คือ การทำรายรับกับรายจ่ายให้สัมพันธ์กัน โดย ทางที่หนึ่ง เรื่องค่าขึ้นศาล ซึ่งกองทุนมีภาระต้องนำเงินไปช่วยผู้ยากไร้ที่จะต้องขึ้นศาลในการดำเนินคดีแพ่ง กฎหมายควรกำหนดให้นำเงินค่าขึ้นศาลบางส่วนหักเข้ากองทุนยุติธรรม วิธีการนี้เป็นการนำเงินบางส่วนของคนรวยที่มีเงินจ่ายค่าขึ้นศาลมาใส่เข้ากองทุน แล้วกองทุนก็นำไปใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ไม่มีเงินค่าขึ้นศาล

ทางที่สอง การเพิ่มรายได้จากค่าทนายความ ก็เช่นเดียวกับกรณีแรก เมื่อกองทุนมีภารกิจช่วยผู้ยากไร้เรื่องทนายความ กฎหมายก็ควรกำหนดให้มีการหักค่าจ้างทนายความของคนรวยบางส่วน(เป็นเปอร์เซ็นต์) มาเข้ากองทุนยุติธรรม แล้วกองทุนจะมีรายได้มากขึ้นเพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าทนายความดีๆ ให้กับคนยากไร้ วิธีการนี้ไม่ได้ทำให้ทนายความต้องมีภาระเพิ่มแต่อย่างใด เพราะทนายความก็จะผลักภาระส่วนนี้ไปเรียกเก็บกับลูกความที่มีฐานะดีอยู่นั่นเอง

ทางที่สาม ภาระเรื่องเงินประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ซึ่งมีการใช้เงินจำนวนมาก แนวคิดที่เสนอคือ การขอแบ่งส่วนหนึ่งของเงินประกันที่ศาลริบในกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี (เป็นเปอร์เซ็นต์) หักส่วนนี้นำมาสมทบเข้ากองทุนเพื่อให้กองทุนมีเงินไว้ไปใช้ในการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นผู้ยากไร้ในคดีอื่น

ดร.ปกป้องยังได้เสนอแนวทางลดภาระหรือรายจ่ายของกองทุนในเรื่องการประกันตัว ซึ่งในกระบวนการยุติธรรมของไทยมักเรียกหลักประกันเสมอ โดยถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกตั้งข้อหาที่รุนแรง เช่น จำคุก 5 ปีขึ้นไป อาจมีการเรียกเงินหลักประกันมาวางเป็นประกันแทนการถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดีอาญา ซึ่งกรณีผู้ต้องหามีฐานะย่อมไม่เดือดร้อน ตรงกันข้ามกับคนจนที่ไม่มีเงิน จำต้องยอมถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีเพราะไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์มาวางเป็นหลักประกัน

ตรงนี้คือจุดที่สร้างความไม่เป็นธรรมและสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ว่าคนสองคนถูกกล่าวหาในคดีอาญาเหมือนกัน คนหนึ่งมีเงินวาง ศาลจะให้ประกันตัวไป อีกคนไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์มาวางจึงต้องถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี นี่คือความเหลื่อมล้ำที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ในกระบวนการยุติธรรมกฎหมายไม่ได้บังคับให้เรียกหลักประกันจากประชาชน แต่ให้เป็นดุลพินิจที่ศาลจะเรียกหรือไม่เรียกก็ได้

ฉะนั้นวิธีการลดภาระของกองทุนยุติธรรมอย่างหนึ่ง คือ การเปลี่ยนแนวคิดของกระบวนการยุติธรรมไทยเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นชั้นพนักงานสอบสวน(ตำรวจ) อัยการ ศาล ในเรื่องการประกันตัว โดยควรพิจารณาจากพฤติการณ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นหลัก เช่น ถ้าเขาเป็นคนปกติไม่ได้หลบหนี ไม่ได้มีพฤติการณ์ทำลายพยานหลักฐาน ไม่ได้มีพฤติการณ์จะไปก่อเหตุร้าย ทำอย่างไรที่กระบวนการยุติธรรมจะพิจารณาให้มีการปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักประกัน แต่กำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฎิบัติระหว่างทำงาน

"แนวทางนี้สามารถทำได้เลยเพียงเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติในการคุมขังและปล่อยชั่วคราวของกระบวนการยุติธรรมไทย ให้ไปพิจารณาในเรื่องลักษณะพฤติการณ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยมากกว่า แทนที่จะเรียกหลักประกันจากผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกกรณีที่ถูกกล่าวหา ถ้าในกระบวนการยุติธรรมไม่ต้องเรียกหลักประกันในทุกกรณี กองทุนยุติธรรมก็ไม่ต้องนำเงินในส่วนนี้ไปช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในการประกันตัว กองทุนยุติธรรมก็มีภาระส่วนนี้น้อยลง และสามารถนำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือคนยากไร้ในเรื่องอื่นๆ ได้มากขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็จะน้อยลง นอกจากนี้เมื่อการคุมขังระหว่างสอบสวนหรือระหว่างพิจารณาลดลง หน้าที่ของรัฐที่ต้องเยียวจำเลยที่ศาลยกฟ้องก็น้อยลง"

ดร.ปกป้อง กล่าวว่า เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สังคมดีขึ้น คนมีฐานะควรจะต้องเสียสละประโยชน์เพียงน้อยนิดของเขาเพื่อเข้ากองทุนเพื่อนำมาช่วยเหลือคนยากไร้ด้อยโอกาส ส่วนจะหักเงินเข้ากองทุนเท่าไหร่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องนำไปคิดคำนวณกันต่อไป สำหรับข้อเสนอดังกล่าวตนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อร่วมผลักดันต่อไป

หากเป็นไปตามที่เสนอ เชื่อว่ากองทุนจะโตขึ้นและภายใต้การบริหารจัดการที่ดี มีคณะกรรมการที่มาจากกลุ่มคนหลายๆ ฝ่าย ในระยะยาวเชื่อว่ากองทุนนี้จะไปได้ดี เหมือนกองทุนประกันสังคมที่ต้องใช้เวลาสักระยะในตอนแรก แต่ในที่สุดก็กลายเป็นกองทุนใหญ่ในปัจจุบัน กองทุนยุติธรรมในรูปแบบใหม่ที่เสนอจะเป็นอีกหนึ่งกลไกในกระบวนการยุติธรรมที่จะสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ยากไร้ในสังคมได้มากขึ้น.

http://www.prachatai3.info/journal/2011/03/33577

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น