วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

เปิดบัญชีกม.293 ฉบับ รอยิ่งลักษณ์ชี้ชะตา

 

เปิดบัญชีกม.293 ฉบับ รอยิ่งลักษณ์ชี้ชะตา

ที่มา: โพสต์ทูเดย์ (2 สิงหาคม 2554)

โดย ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

นับหนึ่งอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป เป็นการเริ่มต้นการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ในฐานะหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยตามระบอบการเมืองการปกครองของไทย ความสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติ คงจะหนีไม่พ้นการทำหน้าที่กลั่นกรองและพิจารณากฎหมายอันเป็นกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน

ล่าสุดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปบัญชีรายชื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.ที่ค้างการพิจารณาในระหว่างอายุสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 23 ทั้งสิ้นจำนวน 293 ฉบับ ให้กับสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พิจารณาเสนอให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ที่จะมี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับกฎหมายที่ค้างสภาดังกล่าว

พิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อธิบายว่า การดำเนินการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ระบุว่า ในกรณีที่มีกฎหมายค้างการพิจารณาอยู่และถ้า ครม.ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปทำเรื่องร้องขอเข้ามาภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภานัดแรกเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาและมติต้องการจะพิจารณากฎหมายฉบับใดต่อตามขั้นตอนที่ค้างการพิจารณาอยู่ แต่ถ้า ครม.ไม่ได้ทำเรื่องร้องของภายในเวลาดังกล่าว

"หมายความว่าเมื่อมี ครม.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แล้วถ้าต้องการให้กฎหมายไหนเดินหน้าเข้าสู่การพิจารณาต่อจากที่ค้างเอาไว้เมื่ออายุสภาชุดที่แล้ว ต้องทำเรื่องเข้ามา เช่น ถ้าเล็งเห็นว่าต้องการพิจารณากฎหมายเดิมต่อ 200 ฉบับก็ต้องทำเรื่องเข้ามา ถ้าไม่ดำเนินการก็ให้ถือว่ากฎหมายนั้นตกไป ซึ่งทั้งหมดเป็นอำนาจการพิจารณาของ ครม." พิทูร กล่าว

สำหรับบัญชีกฎหมายค้างการพิจารณา 293 ฉบับ แบ่งเป็น 6 ลักษณะของขั้นตอนที่ค้างการดำเนินการ ดังนี้

                1.ร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกัน 2 ฉบับ ได้แก่ 

(1) ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ.. 

(2) ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการที่ดินสงวนหวงห้ามของรัฐ พ.ศ. มีสาระสำคัญ คือ ให้ยกเลิกการสงวนหวงห้ามที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของทางราชการทั้งหมด ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เพื่อให้โอกาสแก่ผู้เข้าถือครองที่ดินได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

               2.ร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา 6 ฉบับ ประกอบด้วย 

(1) ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีสาระสำคัญ คือ การจัดการชุมนุมต้องแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในท้องที่ที่จะจัดชุมนุมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมงก่อนเริ่มชุมนุม 

(2) ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม มีสาระสำคัญ ขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการแก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่าลูกจ้างให้ครอบคลุมลูกจ้างทั้งหมด เพิ่มสิทธิประโยชน์ครอบคลุมภรรยาและบุตรของผู้ประกันตน 

(3) ร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน 

(4) ร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ 

(5) ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และ 

(6) ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ

               3.ร่าง พ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการสภาฯ พิจารณาเสร็จแล้ว 4 ฉบับ 

(1) ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย (2) ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 

(3.) ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (4) ร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย

             4.ร่าง พ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการสภาฯ พิจารณาเสร็จแล้วและรอการบรรจุระเบียบวาระ จำนวน 1 ฉบับ

             5.ร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎรจำนวน 1 ฉบับ คือ 

               ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

             6.ร่าง พ.ร.บ.ที่บรรจุระเบียบวาระเพื่อรอการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาจำนวน 278 ฉบับ อาทิ 

                ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นต้น

   กฎหมายเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเห็นได้ว่าบางฉบับก็สอดคล้อง

  กับนโยบายของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะด้านสวัสดิการสังคมและแรงงาน จึงขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลใหม่จะตัดสินใจอย่างไรต่อไป

http://thailawwatch.org/2011/08/25540802062/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น