ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1857 (พ.ศ.2500) กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีโรงงานทอผ้าและ ตัดเย็บเครื่อง นุ่งห่มพากันเดินขบวนประท้วงในนิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงานและให้มีการรับรองสภาพการทำงานของสตรีที่ดียิ่งขึ้น
ในปี ค.ศ.1866 (พ.ศ.2409) ได้มีการประชุมสมัชชาของบรรดาสมาคมผู้ใช้แรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 1 ขึ้น และที่ประชุมได้มีมติเกี่ยวกับการทำงานประกอบอาชีพของสตรี ซึ่งถือเป็นมติที่ ท้าทายต่อขนบประเพณีครั้งเด่นในสมัยนั้น ที่กำหนดให้สตรีต้องอยู่แต่ที่บ้าน จนมาถึงปี ค.ศ.1889 (พ.ศ.2432) ในวันที่ 19 กรกฎาคม คลาลา เซทคิน ผู้นำสตรีชาวเยอรมันได้แสดงสุนทรพจน์เป็นครั้งแรกในเรื่องปัญหาของสตรีต่อที่ประชุมผู้ก่อตั้งสภาคองเกรสสากล ครั้งที่ 2 ในกรุง ปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยได้เรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการทำงาน เรียกร้องให้มีการคุ้มครองสตรีและเด็ก รวมทั้งยังได้เรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการประชุมระดับชาติและระดับสากลอีกด้วย มันเป็นเสียงเรียกร้องที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ถือได้ว่าเป็นการจุดประกายการเคลื่อนไหวในขณะนั้น
ต่อมาอีก 10 ปี ในปี ค.ศ.1890 (พ.ศ.2433) ได้มีการจัดประชุมกลุ่มสตรีผู้ต่อต้านสงครามขึ้นที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ การประชุมนี้เป็นจุดเริ่มของการต่อต้านสงคราม ซึ่งได้มีการพัฒนาขบวนการต่อมาในการทำงานอย่างต่อเนื่องในช่วงศตวรรษที่ 20 เมื่อมาถึงศตวรรษที่ 19 ในปี ค.ศ.1910-1911 (พ.ศ.2453-2454) วันที่ 8 มีนาคม มีการนัดหยุดงานและเดินขบวนของกรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก เพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีของแรงงานสตรี นำโดย คราลา เซทคิน ผู้นำสตรีชาวเยอรมัน และมีผู้นำแรงงานสตรีจาก 18 ประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อสนับสนุนและเสนอให้มีการคุ้มครองแรงงานสตรีในระบบสามแปด กล่าวคือ 8 ชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงเพื่อการพักผ่อน 8 ชั่วโมงเพื่อการศึกษา แสวงหาความรู้เพื่อพัฒนา ศักยภาพ (เนื่องจากคนงานสมัยนั้นต้องทำงานในโรงงานวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีการประกันความปลอดภัยของแรงงานใดๆ และเป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายในเวลาอันสั้น) และได้มีการฉลองวันสตรีสากลขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีประเทศต่างๆจัดงานขึ้นพร้อมกันได้แก่ ออสเตรีย เดนมาร์ค เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ มีประชาชนทั้งชายและหญิงมากกว่าหนึ่งล้านคนร่วมชุมนุม มีการเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง สิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพิ่มเติมจากการเรียกร้องสิทธิในการทำงาน การเข้ารับการ อบรมวิชาชีพ และการให้ยุติ การแบ่งแยกในการทำงาน
ในปี ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) มีการจัดวันสตรีสากลเพิ่มขึ้นใน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และในปี ค.ศ.1913 (พ.ศ.2456) มีการจัดชุมนุมเนื่องในวันสตรีสากลขึ้นในรัสเซียเป็นครั้งแรก ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก แม้จะมีการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อมาในปี ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) วันสตรีสากลที่จัดขึ้นก็ได้ชูคำขวัญของขบวนการสันติภาพ เพื่อต่อต้านสงครามที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในยุโรป หลังจากนั้นเป็นต้นมาการฉลองวันสตรีสากลก็ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สตรีในทวีปต่างๆ ทั้งในแอฟริกา เอเซีย และลาตินอเมริกา ต่างร่วมมือกันต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมและเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการผลักดันให้ตระหนักในสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์
ในปี ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) สหประชาชาติได้เห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการเชิญชวน ให้ทุกประเทศทั่วโลกกำหนดให้วันหนึ่งวันใด เป็นวันฉลองแห่งชาติว่าด้วยสิทธิสตรีและสันติภาพสากล โดยขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณี และสภาพทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ ซึ่งหลายๆ ประเทศได้ให้ความสนใจและให้ความสำคัญ และกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล รวมทั้งประเทศไทยด้วย
สำหรับสตรีในประเทศไทยกลุ่มสตรีและองค์กรแกนนำกลุ่มต่างๆ ได้มีการดำเนินกิจกรรมและรณรงค์อย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัญหา การถูกเอารัดเอาเปรียบของ แรงงานสตรี อีกทั้งการทำงานโดยได้รับค่าจ้างและสวัสดิการอย่างไม่เป็นธรรมของสตรีที่เป็นอีกปัญหาใหญ่ ตลอดจนเรียกร้องความเสมอภาค และขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในรูปแบบต่างๆ ปัจจุบันแม้สิทธิของแรงงานสตรีและสตรีทั่วไปจะได้รับการพูดถึงและรับรองเพิ่มมากขึ้น แต่ในสภาพความเป็นจริงแรงงานสตรีทั้งในระบบและนอกระบบยังต้องเผชิญปัญหากับการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ได้รับความคุ้มครองเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงาน สตรีถูกคุกคามเมื่อออกมาเรียกร้องสิทธิ ขณะเดียวกันสตรีทั่วไปก็ยังขาดความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต แม้แต่สิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่างกาย ก็ยังถูกคุกคาม "การต่อสู้ของสตรีไทยที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ครั้งแรกน่าจะเป็นกรณีของ อำแดงจั่น และอำแดงเหมือน เป็นสตรีที่ออกมาเรียกร้องสิทธิพึงมีพึงได้ของตนในฐานะที่เป็นคน อำแดงเหมือนเรียกร้องสิทธิที่จะสามารถเลือกคู่ครองตามที่ตนเองต้องการ ส่วนอำแดงจั่นเรียกร้องสิทธิที่จะเป็นเจ้าของร่างกายของตนมิให้ถูกขายไปเป็นทาส การต่อสู้ของสองสตรีส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายลักพาเมื่อปี พ.ศ.2408 โดยให้สิทธิสตรีในการเลือกคู่ครอง รวมทั้งแก้ไขกฎหมายผัวขายเมีย บิดา-มารดาขายบุตร เมื่อปี พ.ศ.2411 โดยระบุว่าผัวจะขายเมียไม่ได้ถ้าเมียไม่ยินยอม"
ปัจจุบันปัญหาของสตรีซับซ้อนมากขึ้น ทุกวันนี้สตรีมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากที่จะได้รับเลือกตั้ง ทุกวันนี้สตรีมีสิทธิทางการศึกษา แต่ก็หนักหนาสาหัสที่จะก้าวสู่ความเป็นผู้บริหารระดับสูง ทุกวันนี้การบังคับแต่งงาน การขายลูก ขายเมียเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่การเอาลูกเอาเมียไปขัดดอกก็ยังมีอยู่ ความเชื่อว่าเมียเป็นสมบัติของผัวก็ยังคงอยู่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาหลักๆต่อสตรีที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในสังคมปัจจุบัน อันได้แก่ ความไม่เสมอภาคระหว่าง ชาย-หญิง , การกำหนดค่าจ้าง และจ่ายค่าจ้างในการทำงานที่ต่ำกว่าเพศชาย , การถูกเลือกปฏิบัติ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเพศชาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บังคับบัญชา , การถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม , ไม่ได้รับการคุ้มครองเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงานอย่างที่สมควรจะเป็น , การถูกคุกคามทางเพศในรูปแบบต่างๆ , สิทธิในการเลือกใช้นามสกุล , สิทธิในการลาดคลอดอย่างต่ำ 90 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็ม ในทางปฏิบัติที่เป็นจริง , ขาดการส่งเสริมโอกาสในการศึกษาและพัฒนาตนเองในการประกอบอาชีพ และการปฏิบัติรุนแรงต่อสตรี
"หากดูจากประเด็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบันและบางครั้งอาจเป็นเรื่องใกล้ตัว หรือไกลตัวก็แล้วแต่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังคงรอการแก้ไขจากทุกฝ่ายในสังคม โดยเฉพาะตัวของเราเองทุกคนที่ต้องปรับทัศนคติต่อสตรีให้ดีขึ้น มีการคุกคามหรือเอารัดเอาเปรียบให้น้อยลงให้ได้มากที่สุด มีความเสมอภาคระหว่างเพศ ขณะเดียวกันสตรีก็ต้องทำให้เห็นถึงศักยภาพของตนเองที่เทียบเท่าเพศชาย และที่สำคัญที่สุดคือภาครัฐ ที่ต้องมาดูแลสนใจและเอาใจใส่ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อสังคมที่เท่าเทียมกันและสันติต่อไป"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น