| กระทรวงแรงงานเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ดึงแหล่งงานหมื่นแห่ง อุ้มลูกจ้าง 2.9 แสนราย กรมจัดหางานจัดตำแหน่งงานรองรับ 6.8 หมื่นอัตรา พร้อมเดินหน้านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน เผยเอกชนเข้าร่วมโปรเจ็กต์นำร่องอื้อ 846 แห่ง
นางสาวส่งศรี บุญบา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานการประชุมสถานการณ์การเกิดภัยธรรมชาติและการให้ความช่วยเหลือของศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ กระทรวงแรงงาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" หลังการประชุมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคว่า น.พ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกหน่วยงาน ในส่วนของศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติได้รายงานสถานการณ์การช่วยเหลือของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานตั้งแต่วันที่ 1-12 ตุลาคม 2554 ดังนี้ จำนวนสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัยแล้ว 6,533 แห่ง มีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 262,432 คน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการเพื่อขออนุญาตให้ลูกจ้างมาทำงานสาย หยุดงาน โดยไม่ถือเป็นวันลา และขอให้จัดสวัสดิการเรื่องรถรับส่ง จัดที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการแล้ว 10,134 แห่ง มีลูกจ้างได้รับการดูแลแล้ว 292,058 คน ขณะที่กรมการจัดหางานได้จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ 68,919 อัตรา ส่วนสำนักงานประกันสังคมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้บริการประชาชน 20 ครั้ง จำนวน 2,515 คน ขณะที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ทำอาหารแจกจ่ายประชาชนผู้ประสบภัย 7,350 ชุด และจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปให้การช่วยเหลือซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ที่จำเป็นให้กับประชาชนด้วย น.พ.สมเกียรติเปิดเผยว่า วันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้เปิดให้บริการศูนย์อำนวยการยกระดับ รายได้ 300 บาท เป้าหมายก็เพื่อให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ โดยจะทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูล, ประมวลผล, วิเคราะห์ และรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศ ตั้งแต่ระดับคณะอนุกรรมการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด จนถึงคณะกรรมการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกลางของประเทศ ขณะเดียวกันจะให้ คำปรึกษา รับฟังปัญหา และให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการและแรงงาน เพื่อนำมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาษีจากการขายเครื่องจักรเก่า สนับสนุนแหล่งเงินทุน และลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% นอกจากนั้นจะจัดฝึกอบรมให้กับแรงงานใหม่ 60,000 คน และแรงงานในสถานประกอบการอีก 2.4 แสนคน โดยนายจ้างสามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 200% ขณะเดียวกันศูนย์ดังกล่าวยังให้ข้อมูลเรื่องการขาดแคลนแรงงานแก่สถานประกอบการต่าง ๆ ที่ต้องการแรงงานด้วย ซึ่งหลังเปิดศูนย์อำนวยการยกระดับรายได้ 300 บาท เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ถึงขณะนี้มีบริษัทชั้นนำเข้าร่วมโครงการนำร่องแล้ว 846 บริษัท มีตำแหน่งว่างงานสามารถรองรับได้ 11,096 อัตรา แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันว่า ล่าสุด การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างออกมาเป็น 2 แนวทางคือ ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศภายใน 2 ปี ปีแรกปรับเพิ่ม 40% ทุกจังหวัดในวันที่ 1 ม.ค. 2555 จากนั้นปีที่ 2 ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททุกจังหวัดในวันที่ 1 ม.ค. 2556 โดยมีเงื่อนไขว่าปีแรกจังหวัดใดค่าจ้างขั้นต่ำถึง 300 บาทแล้ว ให้คงอัตราค่าจ้างที่ปรับใหม่นั้นไว้ 2-3 ปี เพื่อแบ่งเบาภาระให้นายจ้างมีเวลาปรับตัว แนวทางที่ 2 ขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน แบบขั้นบันไดในเวลา 4 ปี โดยไม่ต้องอาศัยกลไกพิเศษเข้ามาช่วยเพื่อให้นายจ้างได้มีเวลาปรับตัวมากขึ้น ซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างไม่ขัดข้องต่อทั้ง 2 แนวทาง แต่สำหรับมาตรการที่ 1 เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจน โดยวันที่ 17 ตุลาคม 2555 ซึ่งมีการประชุมไตรภาคี คาดว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันจะได้ข้อยุติ ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ ประกอบกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมช่วยเหลือให้มีรายได้ มีอาชีพ หาเลี้ยงตนเองและครอบครัวหลังประสบอุทกภัย กรมการจัดหางานจึงเตรียมตำแหน่งงานว่าง 57,000 อัตรา ในจังหวัดชลบุรี, ระยอง สมุทรปราการ และสมุทรสาคร รองรับ ผู้ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากสถานประกอบกิจการปิด/หยุดกิจการ ขณะเดียวกันได้จัดทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยประสานสถานประกอบกิจการที่ไม่ได้รับผลกระทบให้รับลูกจ้างจากสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบเข้าทำงาน อาทิ โดยไม่ต้องเสียเวลา สอนงาน/ฝึกงาน ขณะเดียวกันนายจ้าง/ ลูกจ้างไม่ต้องเสียสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย การขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน และมอบหมายให้สถาบัน/ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จัดฝึกอบรมอาชีพด้วยการสาธิตการประกอบอาหาร ทั้งจากอาหารสดและอาหารแห้ง ช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยได้มีงานทำ และมีอาชีพอื่นรองรับหากต้องการเปลี่ยนงาน ในส่วนของผู้ประกันตนที่ประสบภัยน้ำท่วมหากเจ็บป่วยฉุกเฉินให้สามารถเข้ารักษาได้ในทุกโรงพยาบาลที่ใกล้และสะดวก ให้ผู้ประกันตนที่ประสบภัยกู้เงินอัตราดอกเบี้ยต่ำไปซ่อมแซมปรับปรุงที่อยู่อาศัย รายละไม่เกิน 50,000 บาท ให้สถานประกอบกิจการที่ประสบอุทกภัยกู้เงินไปใช้ในกิจการหรือปรับปรุงซ่อมแซม รายละไม่เกิน 1,000,000 บาท ฯลฯ
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น